Author : ชุษณา เมฆโหรา และเนตรนภิส วัฒนสุชาติ.
Source : วารสารโภชนาการ 55, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2563) 111-130
Abstract : การบริโภคโซเดียมมากเกินความจำเป็นส่งผลเสียต่อการควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานหลักที่สำคัญนำไปสู่การลดการบริโภคโซเดียมในประชากร คือ 1) การปรับเปลี่ยนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณโซเดียมลดลง 2) การให้ความรู้และทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ 3) การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการดำเนินการด้านลดโซเดียมถือเป็นงานที่ยากและท้าทาย เนื่องจากโซเดียมมีผลโดยตรงกับรสชาติอาหารเนื้อสัมผัส รวมถึงอายุการเก็บรักษา ทำให้การลดโซเดียมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะอาหาร ความชอบและการยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการปรับสูตรอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในการบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการลดลงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ.
Subject : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร. โซเดียม. ผลกระทบจากโซเดียม. โรคเรื้อรัง. นโยบายสาธารณสุข. อาหารโซเดียมต่ำ. นโยบายโภชนาการ. วิจัยและพัฒนา. ผลิตภัณฑ์อาหาร. การส่งเสริมสุขภาพ.