Author : ศศพินทุ์ ดิษนิล และ ริญ เจริญศิริ.
Source : หมอชาวบ้าน 41, 490 (ก.พ.2563) 48-51
Abstract : ยำทวายเป็นอาหารที่นิยมกินในหน้าหนาวมาแต่อดีต เครื่องปรุงประกอบด้วย ผักหลายชนิด และมีเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นเนื้ออกไก่ต้มฉีก หรือจะใช้ ปลา กุ้ง ก็ได้ ผักที่ใช้จะนำมาลวกก่อน มีหัวปลี ถั่วฝักยาว ถั่วงอก หน่อไม้เส้น ผักบุ้ง พริกหยวก ซึ่งให้รสสัมผัสที่แตกต่างกัน มีทั้งความนุ่ม กรอบ และมัน ส่วนน้ำยำมีส่วนผสมคือ หางกะทิที่จะใช้ลวกผักต่างๆก่อน แล้วเคี่ยวต่อจนแตกมัน ใส่น้ำพริกแกงคั่วลงไปผัดจนหอม ค่อยๆใส่หัวกะทิส่วนแรกลงไปผัดจนหอม ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปิ๊บ น้ำมะขามเปียก ค่อยๆคลุกน้ำพริกที่ผัดกับผักที่ลวกไว้ ใส่ไก่ฉีกฝอย ราดด้วยหัวกะทิ ส่วนที่สอง โรยงาขาวคั่ว หอมเจียวและกุ้งแห้งป่น คุณค่าทางโภชนาการเมื่อกินกับข้าวสวย 1 จาน ให้พลังงาน 745 กิโลแคลอรี ให้โปรตีนและไขมันสูง ใยอาหารค่อนข้างดี มีแคลเซียม เหล็ก วิตามินซี วิตามินบีหนึ่งและบีสอง โพแทสเซียม มีโซเดียมค่อนข้างสูง และคอเลสเตอรอล.

Subject : อาหาร. อาหาร -- แง่โภชนาการ. ยำทวาย – แง่โภชนาการ.

Author : คมสัน ทินกร ณ อยุธยา.
Source : หมอชาวบ้าน 41, 490 (ก.พ. 2563) 12-17
Abstract : น้ำพริกเป็นเครื่องจิ้มในมื้ออาหาร มีรสร้อนช่วยทำให้การเผาผลาญอาหารดี ทำให้เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหารให้ปกติ มีผักสดเพิ่มกากใยอาหาร ช่วยระบบการขับถ่าย มีวิตามิน เกลือแร่ ครบบริบูรณ์ในสำรับน้ำพริก กินคู่กับปลาทอด ปลาย่าง หมูหวาน น้ำพริกจึงเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาได้สอดคล้องกับภูมิอากาศ และเป็นนวัตกรรมเพื่อการชะลอวัยในศาสตร์การแพทย์แผนไทย น้ำพริกนั้นมีหลากหลาย สามารถเลือกกินให้ถูกกับสภาพอากาศ ฤดูร้อนให้กินรสไม่จัดมาก เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกเผา ฤดูฝนกินรสจัดได้ เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกขี้กา ฤดูหนาวให้เน้นที่รสเปรี้ยว เช่น น้ำพริกมะดัน น้ำพริกมะม่วงซอย ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างวิธีปรุงน้ำพริก 3 ชนิด สำหรับสามมื้อได้แก่ ข้าวเหนียวปั้นจี่-น้ำพริกหนุ่ม และข้าวทอด-ไส้น้ำพริกอ่องสำหรับมื้อเช้า น้ำพริกผัดหมูสับแบบคนโคราชสำหรับมื้อกลางวัน และน้ำพริกพริกไทยสดสำหรับมื้อเย็น น้ำพริกของไทยสามารถกินได้ทุกวันเป็นเดือนโดยไม่ซ้ำชนิดกัน ถือเป็นยาและช่วยชะลอวัย และนำไปแปรเป็นนวัตกรรมตามยุคสมัยได้อีก เช่น แซนวิช แฮมเบอร์เกอร์ สปาเก็ตตี้ มักกะโรนี ฯลฯ.

Subject : อาหาร. น้ำพริก. การปรุงอาหาร (พริก). อาหาร -- แง่โภชนาการ. น้ำพริก – แง่โภชนาการ.

Author : กรรณิกา เพชรแก้ว.
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 32, 707 (15 พ.ย. 2562) 94-95
Abstract : การเพาะปลูกอาศัยทรัพยากรทั้งปุ๋ย สารเคมี ยารักษาโรค อาหาร น้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตมาเป็นอาหาร เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมากและปล่อยทิ้งของเสียมหาศาล การผลิตอาหารในห้องทดลองหรือในหลอดแก้วเป็นทางออกหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการให้ความสนใจที่จะนำมาใช้ วิธีการคือการเพาะเลี้ยงเซลล์หรือเนื้อเยื่อในหลอดแก้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ประกาศความสำเร็จการเพาะเลี้ยงเนื้อแกะในห้องทดลอง โดยใช้โปรตีนกว่า 20,000 สายพันธุ์ ใช้เวลา 8 สัปดาห์ กลายเป็นเนื้อแกะชิ้นเท่าที่ใส่ในแฮมเบอร์เกอร์ การผลิตแบบนี้คาดว่าจะลดการใช้ทรัพยากรลง 78-96เปอร์เซ็นต์ และไม่ต้องใช้พื้นที่มหาศาลในการผลิต เพียงแค่ใช้สเต็มเซลล์ของสัตว์แต่ละชนิดมาเพาะเลี้ยงให้อาหาร คาดว่าจะวางตลาดอย่างแพร่หลายภายใน 5 ปี.

Subject : การเพาะเลี้ยงเซลล์. การเพาะเลี้ยงเซลล์ – อาหาร.

Author : กรรณิกา เพชรแก้ว.
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 31, 690 (มี.ค. 2562) 106-107
Abstract : ชาซีลอน (Ceylon) เป็นชาที่ปลูกในประเทศศรีลังกา การผลิตชาเริ่มจากการเก็บยอดชา คือเก็บเพียงยอดกับสองใบอ่อนเท่านั้น และต้องเป็นผู้หญิงเก็บเพราะมีความนุ่มนวลกว่าผู้ชาย เก็บแล้วต้องรีบส่งโรงงานเพื่อนำไปตากแห้ง ซึ่งมีทั้งแบบผึ่งตามธรรมชาติ 12 -17 ชั่วโมง และผึ่งในห้องอุณหภูมิสูงบนตะแกรงที่มีพัดลมเป่าผ่าน 10-14 ชั่วโมง ยอดชาสด 18 กิโลกรัม จะได้ยอดชาแห้ง 5 กิโลกรัม ใบชาที่ตากแห้งจะนำไปนวด 20-30 นาที แล้วนำไปหมัก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการทำชาดำ เพื่อให้เกิดการปลดปล่อยกลิ่น สี และ รสชาติที่เข้มข้น จากนั้นจึงนำใบชาไปอบแห้งประมาณ 20-25 นาที เริ่มจาก 50 องศาเซลเซียส ไปสิ้นสุดที่ 93-105 องศาเซลเซียส ผู้ผลิตชาขนาดใหญ่ของศรีรังกาที่มีชื่อเสียงยี่ห้อดิลมาห์ (Dilmah) ชาเจ้าแรกของโลกที่เจ้าของเป็นผู้ผลิตเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูก เก็บเกี่ยว ผลิต บรรจุ และจำหน่าย.

Subject : ชา. ชาซีลอน.