- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 1805
Author : อรวรรณ ปิ่นประยูร, อรสา อ่อนจันทร์ และภัณฑิลา ภูมิระเบียบ.
Source : วารสารผลงานวิชาการกรมวิทยาศาสตร์บริการ 9, 9 (ส.ค. 2563) 49-57
Abstract : งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลของสารที่ใช้ในการสกัดต่อปริมาณไนโตรซามีนที่เคลื่อนย้ายออกมาจากถุงมือยางมาสัมผัสผู้สวมหรือปนเปื้อนลงในอาหารที่ถูกสัมผัส โดยการวิเคราะห์ไนโตรซามีน 12 ชนิด คือ NDMA, NDEA, NDPA, NDiBA, NDBA, NPIP, NPYR, NMOR, NEPhA, NMPhA, NDiNA, และ NDBzA ในถุงมือยางทางการแพทย์หรือถุงมือยางสำหรับงานบ้านทั่วไปทั้งที่ผลิตจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ไนไตร์ลเพื่อใช้ในงานด้านอาหาร โดยการสกัดด้วยสารละลายน้ำลายเทียม เหงื่อเทียม และสารตัวแทนอาหารที่มีสมบัติเป็นกรดและอัลกอฮอล์ โดยใช้เทคนิค GC-TEA ผลการศึกษาพบว่าเมื่อใช้สารสกัดต่างชนิดกันปริมาณไนโตรซามีนที่เคลื่อนย้ายออกจากถุงมือมีปริมาณต่างกัน ซึ่งส่งผลถึงการพิจารณาว่าถุงมือยางมีปริมาณไนโตรซามีนเป็น ไปตามเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัยของสหภาพยุโรปหรือไม่ และเมื่อสกัดถุงมือในสภาวะจำลองที่คาดว่าไนโตรซามีนจะ เคลื่อนย้ายออกมาได้มากที่สุดพบว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของไนโตรซามีนลงในอาหาร ในขณะที่ผู้สวมถุงมือก็มีโอกาสได้รับไนโตรซามีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่อาจเป็นอันตราย ดังนั้นการใช้ถุงมือยางในงานด้านอาหารควรเลือกใช้ถุงมือชนิดที่ได้รับการทดสอบคุณภาพว่าปลอดภัยสำหรับใช้งานด้านอาหารแล้วเท่านั้น
Subject : อาหาร. ถุงมือยาง. การปนเปื้อนในอาหาร. วัสดุสัมผัสอาหาร.
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.matichonacademy.com
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 1656
Author : จุฑาทิพย์ ลาภวิบูลย์สุข และสมภพ ลาภวิบูลย์สุข.
Source : วารสารผลงานวิชาการกรมวิทยาศาสตร์บริการ 9, 9 (ส.ค. 2563) 58-70
Abstract : การตกค้างของสารเมลามีนจากวัสดุสัมผัสอาหารสามารถปนเปื้อนในอาหารได้ สหภาพยุโรปจึงได้ออกกฎระเบียบหมายเลข1282/2011 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค ว่าด้วยเรื่องเกณฑ์กำหนดของการไมเกรชันของสารเมลามีนหรือ Specific migrationlimit (SML) ที่ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้น งานวิจัยนี้ศึกษาการไมเกรชันของสารเมลามีนจากวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งเก็บจากท้องตลาดของประเทศไทยใน 4 ภาคดังนี้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ โดยใช้กรดอะซิติก ความเข้มข้นร้อยละ 3 โดยน้ำหนักต่อปริมาตรและเทคนิคไฮเพอร์ฟอร์แมนลิควิดโครมาโทกราฟี (HPLC) ด้วยวิธีการสกัดดำเนินการที่70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง การทดสอบปริมาณเมลามีนในตัวอย่างเพื่อประเมินการรับสัมผัสจากการบริโภค พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณเมลามีนของวัสดุสัมผัสอาหารทุกชนิด คือ 13.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผลการทดสอบได้นำมาประเมินความเสี่ยงของการรับสัมผัสของสารเมลามีน พบว่าอาหารหลายชนิดมีความเสี่ยงสูง เช่น ข้าว นมสด เครื่องดื่มและน้ำดื่ม โดยขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร อายุ การบริโภค และบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้อีกด้วย ความเสี่ยงสูงที่สุดพบในนมสดสำหรับอายุ 0-3 ปี และน้ำดื่มสำหรับอายุมากกว่า 3 ปี ที่เปอร์เซ็นไทล์ 97.5 เฉพาะผู้บริโภค ดังนั้น ชนิดอาหารที่มีการบริโภคสูงต้องคำนึงถึงว่าอาจมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน และควรหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ไม่เหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์เมลามีนเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ.
Subject : อาหาร. วัสดุสัมผัสอาหาร. ภาชนะเมลามีน.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2074
Author : ณิชชาอร ภควัตชัย และชินวัฒน์ ทองชัช.
Source : วารสารผลงานวิชาการกรมวิทยาศาสตร์บริการ 9, 9 (ส.ค. 2563) 71-80
Abstract : งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบการแพร่กระจายของโลหะจากพลาสติกที่ใช้เป็นวัสดุสัมผัสอาหารในสารละลายกรดอะซีติกร้อยละ 3 โดยมวลต่อปริมาตรตามกฎระเบียบวัสดุสัมผัสอาหารประเภทพลาสติกของสหภาพยุโรป โดยวิเคราะห์ปริมาณโลหะ 9 ชนิดได้แก่ อะลูมิเนียม (Al) แบเรียม (Ba) โคบอลต์ (Co) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) ลิเทียม (Li) แมงกานีส (Mn) นิกเกิล (Ni) และ สังกะสี (Zn) ด้วยเทคนิคอินดักทีฟลี คอปเปิลพลาสมา-ออปติคอล อิมิสชัน สเปกโตรเมทรี (ICP-OES) จากการศึกษาพบว่าช่วงความเป็นเส้นตรง (Linear range) ของการทดสอบอะลูมิเนียม แบเรียม ทองแดง เหล็ก ลิเทียม แมงกานีส และ สังกะสี เท่ากับ 0.0-1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับโคบอลต์และนิกเกิลมีช่วงความเป็นเส้นตรงการทดสอบเท่ากับ 0-0.5 และ 0-0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ ค่าขีดจำกัดการตรวจหา (LOD) ของ อะลูมิเนียม แบเรียมโคบอลต์ ทองแดง เหล็ก ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล และ สังกะสี เท่ากับ 0.027, 0.026, 0.014, 0.024, 0.025, 0.024, 0.035, 0.004 และ 0.022 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ ค่าขีดจำกัดการวัดเชิงปริมาณ (LOQ) ของอะลูมิเนียม แบเรียม ทองแดงเหล็ก ลิเทียม แมงกานีส และ สังกะสี เท่ากับ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับโคบอลต์และนิกเกิลมีค่า LOQ เท่ากับ 0.02 และ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ มีความแม่น (Accuracy) และ ความเที่ยง (Precision) ที่ระดับความเข้มข้น LOQ อยู่ในเกณฑ์การยอมรับโดยมีค่าร้อยละของปริมาณกลับคืน (% recovery) และค่าร้อยละเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์ (% RSD) ของโลหะทั้ง 9 ชนิดอยู่ในช่วงร้อยละ 97.0-103 และร้อยละ 1.57-7.73 ตามลำดับ
Subject : อาหาร. วัสดุสัมผัสอาหาร. โลหะหนัก. พลาสติก. ภาชนะพลาสติก.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 1964
Author : ชุษณา เมฆโหรา และเนตรนภิส วัฒนสุชาติ.
Source : วารสารโภชนาการ 55, 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2563) 111-130
Abstract : การบริโภคโซเดียมมากเกินความจำเป็นส่งผลเสียต่อการควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานหลักที่สำคัญนำไปสู่การลดการบริโภคโซเดียมในประชากร คือ 1) การปรับเปลี่ยนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณโซเดียมลดลง 2) การให้ความรู้และทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ 3) การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการดำเนินการด้านลดโซเดียมถือเป็นงานที่ยากและท้าทาย เนื่องจากโซเดียมมีผลโดยตรงกับรสชาติอาหารเนื้อสัมผัส รวมถึงอายุการเก็บรักษา ทำให้การลดโซเดียมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะอาหาร ความชอบและการยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการปรับสูตรอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในการบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการลดลงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ.
Subject : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร. โซเดียม. ผลกระทบจากโซเดียม. โรคเรื้อรัง. นโยบายสาธารณสุข. อาหารโซเดียมต่ำ. นโยบายโภชนาการ. วิจัยและพัฒนา. ผลิตภัณฑ์อาหาร. การส่งเสริมสุขภาพ.