ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ภาครัฐได้ปลดล็อกกัญชาและกัญชงจากการเป็นยาเสพติดในหลายส่วน (ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดกัญชา) ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต นำมาสู่คำถามว่ากัญชาและกัญชงจะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรที่ต้องคำนึงถึง
กัญชงน่าจะมีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือ Cash Crop ที่เปิดกว้างสำหรับเกษตรกรและผู้ลงทุนได้มากกว่ากัญชา เนื่องจากเงื่อนไขการปลูก การสกัด การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายกัญชายังคงมุ่งเน้นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก จากการที่กัญชามีสาร THC ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท ขณะที่การปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชงทั้งเพื่อสารสกัด CBD น้ำมันเมล็ดกัญชง และเส้นใย (Fiber) จะมีความผ่อนคลายมากกว่า แม้ตลอดซัพพลายเชนของทั้งคู่ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ โดยคาดว่าผลผลิตกัญชงต้นน้ำของไทยรอบแรกหลังการปลดล็อกน่าจะทยอยออกสู่ตลาดได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใยสำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลกจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยมีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 22.4 ต่อปี (ที่มา: ข้อมูลจาก Allied Market Research, December 2020)