เพชรสีเหลืองที่ส่องประกายเจิดจ้าหายไปในความมืด หลังถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุชนิดใหม่ที่ดำที่สุดในโลก

สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) ของสหรัฐฯ เปิดตัววัสดุชนิดใหม่ที่มีสีดำมืดที่สุดในโลก โดยสามารถดูดกลืนแสงได้มากกว่า 99.995% ทำลายสถิติของสี "แวนตาแบล็ก" (Vantablack) ที่เคยครองแชมป์ความมืดทึบมาก่อนหน้านี้แต่ดูดกลืนแสงได้สูงสุดที่ 99.96% เท่านั้น

.

เอ็มไอทีเผยว่ายังไม่มีการตั้งชื่อให้กับวัสดุดังกล่าวซึ่งจัดเป็นคาร์บอนนาโนทิวบ์ประเภทหนึ่ง โดยนักวิจัยด้านวิศวกรรมได้ค้นพบวัสดุนี้โดยบังเอิญ ขณะทำการทดลอง "เพาะ" สายคาร์บอนนาโนทิวบ์ให้เติบโตขึ้นบนวัสดุนำไฟฟ้าเช่นอะลูมิเนียม

.

รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces ระบุว่า เมื่อคาร์บอนนาโนทิวบ์เรียงตัวกันเป็นเส้นในแนวตั้งบนแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ที่อยู่ในภาวะพิเศษ จนดูคล้ายกับ "ต้นไม้เล็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นอย่างยุ่งเหยิงในป่าทึบ" ปรากฏว่ามันดูเป็นสีดำมืดผิดปกติชนิดที่ผู้วิจัยไม่เคยได้เห็นมาก่อน

.

ตัวอย่างของสีดำ "แวนตาแบล็ก" (Vantablack) ที่ดูดกลืนแสงสว่างได้ 99.96%

เมื่อทดสอบวัดการดูดกลืนแสงของคาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดนี้ พบว่ามันสามารถดูดกลืนแสงได้มากกว่าสีดำแวนตาแบล็กอันโด่งดัง ซึ่งเป็นผลงานของบริษัท Surrey Nanosystems ของสหราชอาณาจักรเมื่อหลายปีก่อน โดยวัสดุชนิดใหม่สะท้อนแสงที่สายตามนุษย์มองเห็นได้ออกมาน้อยกว่าถึง 10 เท่า

.

ศิลปินของเอ็มไอทีได้จัดแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งเผยถึงคุณสมบัติดูดกลืนแสงที่ไม่ธรรมดาของวัสดุใหม่นี้ โดยใช้มันเคลือบห่อหุ้มเพชรสีเหลือง 16 กะรัตที่ส่องประกายเจิดจ้า จนเพชรน้ำงามทั้งเม็ดหายไปในความมืดสนิท "เหมือนตกลงไปในหลุมดำ" อย่างไร้ร่องรอย

.

ศาลาจัดแสดงนิทรรศการของบริษัทรถยนต์ฮุนไดถูกทาด้วยสีดำแวนตาแบล็ก เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์ไบรอัน วอร์เดิล ของเอ็มไอทีบอกว่า ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบชัดถึงสาเหตุที่ทำให้คาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดใหม่มีคุณสมบัติการดูดกลืนแสงที่สูงมากขนาดนี้ ซึ่งจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป โดยเขาเชื่อว่าในอนาคตจะยังมีการค้นพบวัสดุที่ดำมืดยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ

.

"วัสดุสีดำสนิทที่ดูดกลืนแสงได้มาก มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุปกรณ์จำพวกกล้องถ่ายภาพและกล้องโทรทรรศน์ และอาจช่วยขจัดการรบกวนของแสงต่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ซึ่งจะทำให้การบันทึกภาพต่าง ๆ ในห้วงจักรวาลมีคุณภาพดีขึ้น" ศ. วอร์เดิลกล่าว

.

ที่มา : BBC News Thai https://www.bbc.com/thai/features-49705706