‘ยูเนสโก’ เร่งทางการออสเตรเลียแก้ไขปัญหาแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) หลังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี ทั้งพบว่าปะการังหายไปแล้วกว่าครึ่งในช่วง 25 ปี จึงต้องลุ้นมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะมีการประชุม 16 ก.ค.นี้ที่ประเทศจีน

.
ตามร่างรายงานคณะกรรมการมรดกโลกแห่งสหประชาชาติ ที่ออกเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา แนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียรวมอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ซึ่ง
ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากรัฐบาลออสเตรเลีย
.
คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยตัวแทนจาก 21 ประเทศ ได้ประชุมกันภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ประเทศนี้ไม่ได้ดำเนินการมากพอที่จะปกป้องแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกเนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
.
“สรุปได้ว่าแม้รัฐภาคีจะประสบความสำเร็จในเชิงบวกมากมาย แต่ความคืบหน้ายังไม่เพียงพอในการบรรลุเป้าหมายสำคัญของแผนแนวปะการังปี 2050”
.
“แผนดังกล่าวต้องการคำมั่นที่เข้มแข็งและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน แต่ยังรวมถึงการเร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำและมาตรการจัดการที่ดินด้วย”
.
"ผลกระทบอย่างกว้างขวางจากเหตุการณ์การฟอกสีปะการังที่ต่อเนื่องกันทำให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของมรดกโลกแห่งนี้"
.

ยูเนสโกส่งสัญญาณลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟสู่รายชื่อแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และเเนะนำให้ทางการออสเตรเลียแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับการฟื้นฟูปะการังยาวไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 (หรือ The Reef 2050 Plan) ในขณะที่ทางการออสเตรเลียเตรียมทำเรื่องคัดค้านข้อเรียกร้องนี้ของยูเนสโก โดยระบุว่า การลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟเป็นเรื่อง ‘ทางการเมือง’ เนื่องจากหนึ่งใน 12 ประเทศที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกนั้น มีประเทศจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตไม่ลงรอยกันนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
.
หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติเห็นชอบลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟในวันที่ 16 กรกฎาคมที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมก็จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแหล่งมรดกธรรมชาติให้อยู่ใน 'ภาวะอันตราย' จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจกระทบต่ออัตราการจ้างงานหลายพันตำแหน่งซึ่งเกิดจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางธรรมชาติแห่งนี้
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งทอดยาวเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ตกอยู่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ในครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2563 ถือเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ซ้ำร้ายกว่านั้น เกรตแบร์ริเออร์รีฟต้องเผชิญกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงที่สุด ตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงฉับพลัน
.

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000061968