ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีวาระสำคัญคือ“การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก” ซึ่งนานาประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งดำเนินการ โดยทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม ต้องร่วมมือกัน
ในเวทีดังกล่าว “เอสซีจี” ได้ประกาศกำหนดการเป็นองค์กรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปีพ.ศ.2593 และมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงอย่างน้อย 20% ภายในปีพ.ศ.2573 เมื่อเทียบกับปีฐานในพ.ศ.2563 โดยครอบคลุมทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ

.

“แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวและยืนยันว่า ด้วยตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขีดจำกัดของแหล่งพลังงานในอนาคต “เอสซีจี” ได้ริเริ่มพัฒนาการใช้ “พลังงานทดแทน” มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม แกลบ ฟางข้าว และใบอ้อย รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิต และการผลิตก๊าซชีวภาพจากการบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

.
กระทั่งในปี 2555 “เอสซีจี” มีการพัฒนาพลังงานทดแทนที่โดดเด่น ด้วยการนำ “เชื้อเพลิงแข็งทดแทนจากขยะชุมชน” (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาผลิตปูนซิเมนต์ทดแทนการใช้ถ่านหิน โดยมีการจัดตั้งโรงงานคัดแยกขยะที่บ่อขยะ แล้วแยกส่วนที่เผาไหม้ได้นำมาแปรรูปและอัดก้อนแข็งเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดปัญหาขยะของเสียอีกด้วย

.

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

ต่อมาในปี 2559 การใช้ “พลังงานแสงอาทิตย์” เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยมีการวางนโยบายและผลักดันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมทั้งมีการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 114,176 เมกะวัตต์ชั่วโมง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 57,077 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านของเอสซีจีจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานสะอาดอย่างมีนัยสำคัญ

.

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มต้นจากการติดตั้งบนบก บนหลังคา และขยายสู่บนผิวน้ำ ซึ่ง “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” ถือเป็นก้าวใหม่ของเทคโนโลยีโซลาร์ฟาร์มที่ต้องอาศัยนวัตกรรมการติดตั้งที่แตกต่างจากบนพื้นดินหรือหลังคาอาคาร ดังนั้น ด้วยความเชี่ยวชาญด้านวัสดุพลาสติกของธุรกิจเคมิคอลส์ จึงมีการพัฒนา “ทุ่นพลาสติกลอยน้ำ” เพื่อเป็นฐานให้กับแผงโซลาร์เซลล์ โดยทุ่นต้องมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งานกลางแดดจัด ลอยตัวดี พร้อมรองรับน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ และมีจุดเด่นสำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีอายุใช้งานนานถึง 25 ปี นำกลับไปรีไซเคิลได้ และในการติดตั้งยังกำหนดให้มีพื้นที่เปิดระหว่างทุ่นมากกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอ

.

การพัฒนา “นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำสำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” รายแรกในประเทศไทย จึงเกิดขึ้นและมีการติดตั้งเป็นแห่งแรก เมื่อปี 2561 ที่บ่อเก็บน้ำในโรงงานของเอสซีจี สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้กับโรงงานอีกหลายแห่ง เช่น โรงงานของธุรกิจเคมิคอลส์ในจังหวัดระยอง เหมืองแม่ทานในจังหวัดลำปาง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ในจังหวัดชลบุรี ฯลฯ

.

การพัฒนา “โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม” นอกจากเพื่อนำมาใช้ภายในโรงงานหรืออาคารต่างๆ ของเอสซีจีแล้ว ยังมีการต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจใหม่ในปี 2562 ในชื่อ “SCG Solar Roof Solutions” เป็นโซลูชันติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์เพื่อให้บริการแก่อาคารที่พักอาศัยทั่วไป และเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การบริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปี 2563 มีรายได้เติบโตสูงประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562

.

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ยังนำไปสู่การก่อตั้ง “SCG Cleanergy” ธุรกิจใหม่ที่ให้บริการด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่การขออนุญาต การติดตั้ง ดำเนินการ และบำรุงรักษา ตลอดจนเชื่อมต่อการซื้อขายกับการไฟฟ้า พร้อมทั้งการซื้อขายไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มเสมือนจริง (Virtual Trading Platform) เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทางเลือกในวงกว้าง

.

เทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์

ปัจจุบัน ความก้าวหน้ายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง การพัฒนา “เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน”

.

ในทุกส่วนของโรงงาน มีการเปลี่ยนแปลงจากยุคที่เทคโนโลยีช่วยมนุษย์ทำงาน ในวันนี้กำลังมุ่งไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ เช่น การใช้ระบบออโตเมชัน โรบอทที่มีระบบเซนเซอร์ หรือ AI Machine Learning ซึ่งสามารถควบคุมและปรับแต่งการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างแม่นยำ ส่งผลให้เกิดการลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

.

รวมทั้ง การเปลี่ยนผ่านการใช้อุปกรณ์ที่อาศัยพลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะ “รถไฟฟ้า” จึงเกิดเป็น “นวัตกรรมรถโม่พลังงานไฟฟ้า” (EV Mixer Truck) คันแรกของไทย เพื่อนำมาใช้ขนส่งคอนกรีตด้วยพลังงานสะอาด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 26.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีต่อคัน

.

อีกพัฒนาการหนึ่งคือ “รถบรรทุกงานเหมืองแร่ชนิดไฟฟ้า” (EV Mining Truck) ขนาดบรรทุก 60 ตัน ที่นำมาใช้ในการส่งมอบหินปูน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยพลังงานสะอาด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 71.78 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีต่อคัน หรือทดแทนการปลูกต้นไม้ได้ 7,555 ต้นต่อปี

.

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายในอนาคต คือเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวันนี้ยังมีราคาสูง ซึ่งในการลงทุนอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการระยะสั้น นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ยังเป็นอีกความท้าทายที่ต้องมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป

.

“แม้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยเฉพาะการมีนโยบายและทิศทางการดำเนินงานที่เหมาะสม มีการจัดทำแผนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเป็นระยะ หัวใจสำคัญคือการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทุกคนต้องช่วยกัน ร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นวาระสำคัญของชาติและของโลก”รุ่งโรจน์ ย้ำถึงความท้าทายและหมุดหมายสำคัญ

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000069970