TED Fund สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ จ.สงขลา หนุนโครงการ “ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว”หรือ“เข็มละลาย”ทางเลือกใหม่แทนการใช้เข็มโลหะในการฉีดยา แก้โรคกลัวเข็ม เผยมีประสิทธิภาพในการนำส่งยาระดับลึก ไม่ทำให้เกิดแผล เตรียมนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชนที่ห่างไกลหรือชุมชนบนเขาลดความเหลื่อมล้ำ

.

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.)นายชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามภารกิจการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในโครงการ “ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว” หรือเข็มละลายซึ่ง TED Fund ให้ทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) แก่คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ที่ทำวิจัยร่วมกับ บริษัท อี.ซี.เน็กซ์ จำกัด

.

โดย นายชาญวิทย์ กล่าวว่า โครงการ“ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว” หรือเข็มละลายเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการใช้เข็มโลหะในการฉีดนำส่งยา วัคซีนหรือสารออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายที่เป็นวิธีการทางการแพทย์ปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการแก้ภาวะโรคกลัวเข็มด้วย ทั้งนี้ ระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์ด้วยแพลตฟอร์มเข็มไมโครนีดเดิ้ลแบบสลายตัว ถูกออกแบบให้ใช้แทนเข็มโลหะได้ และมีประสิทธิภาพในการนำส่งยาระดับลึก แต่ไม่ทำให้เกิดแผล มีการนำส่งสารออกฤทธิ์โดยเน้นมาจากการสกัดสมุนไพรที่มาจากกลุ่มออร์แกนิค สำหรับการใช้งานด้านเวชสำอางค์และฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีผลในการกระตุ้น ฟื้นฟูและปรับสภาพผิว โดยสามารถออกแบบระบบเข็มเสริมด้วยเทคนิคพิเศษทางการแพทย์นาโนด้วยการบรรจุสารออกฤทธิ์ด้วยนาโนแคปซูลซึ่งมีปริมาณขนาดของยาที่เหมาะสมกับร่างกายลงในตัวเข็มที่สามารถสลายตัวได้และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

.

“ ทั้งนี้ ในระยะแรกผู้ประกอบการ มีความตั้งใจที่จะนำนวัตกรรมทางการแพทย์นี้สำหรับใช้ส่งยาปริมาณที่น้อยและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในรูปแบบแผ่นแปะเข็มไมโครนีดเดิ้ลให้ถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชนที่ห่างไกลหรือชุมชนบนเขา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อพบปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องเดินทางไกลเพื่อมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิต ดังนั้น นวัตกรรมนี้จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” นายชาญวิทย์ กล่าว และว่า ในระยะแรกจะนำนวัตกรรมนี้ มาช่วยในเรื่องการฟื้นฟูสภาพผิวของคนที่มีปัญหาริ้วรอยควบคู่กับการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนามุ่งสู่การแพทย์สำหรับโรคอื่นๆ ต่อไป เช่น แผลติดเชื้อ เบาหวาน เป็นต้น

.

ด้านนายจุลินทิพย์ พุทธวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อี.ซี.เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า วิธีใช้เข็มละลาย คือใช้แปะเข็มละลายบริเวณที่จะฉีดยาหรือบริเวณที่แผลอักเสบ จากโรคเบาหวานหรือโรคชนิดอื่นใช้เวลาประมาณ 12-15 นาที เข็มละลายที่มีตัวยา เช่น กรดไฮลูโรนิค ที่จะช่วยฟื้นฟูแผลอักเสบ แผลติดเชื้อจะละลายทะลุผิวหนัง โดยไม่ส่งผลกระทบ ไม่แพ้ ไม่ระคายเคืองต่อร่างกายซึ่งเข็มละลายได้ผ่านการทดสอบแล้ว ขณะนี้กำลังขอขึ้นทะเบียนกับ อย.

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000081221