ภาพจำลองหุ่นยนต์สำรวจ Perseverance ที่มีอุปกรณ์ผลิตออกซิเจนติดตั้งอยู่

การทดลองขนาดเล็กขององค์การนาซาเพื่อผลิตออกซิเจนบนดาวอังคาร ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในขั้นแรก โดยอุปกรณ์ทดสอบใช้ทรัพยากรในสถานที่จริง MOXIE ซึ่งติดตั้งอยู่กับหุ่นยนต์สำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” (Perseverance rover) สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนสำหรับหายใจได้รวม 100 นาที หลังจากการทดสอบเดินเครื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง

.

เมื่อปีที่แล้วมีการทดลองใช้งานอุปกรณ์ MOXIE ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็กเท่าเครื่องปิ้งขนมปังทั้งสิ้น 7 รอบ โดยเดินเครื่องรอบละ 1 ชั่วโมง ทำให้ผลิตออกซิเจนออกมาในขั้นแรกได้เฉลี่ยรอบละ 6 กรัม สามารถใช้เป็นอากาศสำหรับมนุษย์หายใจได้รอบละ 15 นาที ซึ่งเทียบเท่ากับที่ต้นไม้ขนาดเล็กผลิตได้บนโลก

.

การทดลองดังกล่าวสามารถผลิตออกซิเจนได้ทั้งหมด 50 กรัม คิดเป็นอากาศที่ใช้หายใจได้รวม 100 นาที โดยอุปกรณ์นี้สามารถเดินเครื่องได้ในทุกสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงของดาวอังคาร ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่แตกต่างกันถึงกว่า 100 องศาเซลเซียสในฤดูกาลต่าง ๆ หรือในเวลาที่มีพายุทรายพัดกระหน่ำ

.

สำหรับการทำงานของ MOXIE นั้น ใช้วิธีดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่มากถึง 96% ในบรรยากาศของดาวอังคารเข้ามา เพื่อแยกอะตอมออกซิเจนในคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกไปเป็นอากาศหายใจ 1 อะตอม และปลดปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นของเสียออกมา

.

อุปกรณ์ MOXIE (กล่องสีทอง) ขณะถูกติดตั้งลงบนตัวหุ่นยนต์สำรวจ Perseverance

หลังจากประสบความสำเร็จในขั้นแรก ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซามีแผนจะสร้างอุปกรณ์ MOXIE ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผลิตออกซิเจนได้มากพอรองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในระยะยาวบนดาวอังคาร และเพื่อให้ผลิตออกซิเจนได้มากพอเป็นเชื้อเพลิงขับดันจรวดสำหรับการเดินทางกลับสู่โลกด้วย

.

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องปรับปรุงให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถรักษาระดับอุณหภูมิภายใน และทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนของดาวอังคารได้มากขึ้น ทั้งยังต้องสามารถเดินเครื่องติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 400 ชั่วโมง เพื่อให้ผลิตอากาศหายใจได้เพียงพอสำหรับการตั้งฐานที่มั่นของมนุษย์อวกาศในอนาคตอันใกล้

.

คาดว่าอุปกรณ์ MOXIE รุ่นต่อไป จะมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะยังไม่เป็นปัญหาต่อการขนส่งจากโลก แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของนาซาจะต้องคิดแก้ปัญหา ในเรื่องการควบคุมให้อุปกรณ์ร้อนขึ้นอย่างสม่ำเสมอและไม่แตกหักเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cxre6vk5lxpo