บพค.ชูอะคาเดมี่พัฒนากำลังคนขับเคลื่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้าน “อาหาร - การแพทย์ – AI” ขณะที่ “ศ.ดร.สมปอง” เผย บพค.สร้างคนที่มีทักษะด้าน AI แล้วกว่า 2 แสนคนกระจายเข้าไปอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม มี 100 – 1,000 คนเป็นระดับมันสมองหรือ Super AI Engineer เตรียมนำ AI ไปเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน EV เทคโนฯ อวกาศ

.

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า บพค.มีภารกิจในการเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและส่งเสริมการรับรู้และการเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งพัฒนากำลังคนตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยขณะนี้ บพค.ได้ส่งเสริมการสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์(AI) เทคโนโลยีอวกาศ ควอนตัม การสร้างพลังงานสะอาด การแพทย์สมัยใหม่ โดย บพค. มีอะคาเดมี่(Academy) ที่ทำหน้าที่กำหนดทักษะของตนเองควบคู่กับความต้องการของภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม เช่น ขณะนี้เรามีฟู้ดอะคาเดมี่ (Food Academy) เพื่อไปเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้กลิ่น รสสัมผัสของอาหารไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลเพื่อไปสู่ครัวโลก นอกจากนี้ ยังมีอะคาเดมี่ด้านการแพทย์ อะคาเดมี่ด้าน AI เป็นต้น

.

ศ.ดร.สมปอง กล่าวต่อว่า ที่สำคัญอะคาเดมี่ด้าน AI บพค. ได้พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตของประเทศไว้ประมาณ 2 แสนคน เพราะปัจจุบัน AI ได้นำถูกนำเข้าไปใช้อย่างแพร่หลายในแทบทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร และธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ของประชาชนจะย้ายไปอยู่บนโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะแล้วและใน 2 แสนคน มี 100 – 1,000 คนที่จะพัฒนาเป็นระดับมันสมอง หรือ Super AI Engineer ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า และคนพวกนี้จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร พลังงาน เป็นต้น

.

“ในปี 2567 บพค.จะมุ่งเป้าโดยการพัฒนากำลังคนด้าน AI เป็นหลักเราจะนำ AI ไปเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน EV เทคโนโลยีอวกาศ เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้ AI กันเกือบหมดแล้ว ขณะที่ภาครัฐเกือบครึ่งก็หันมาใช้ระบบ AI ในเรื่องของการจัดการองค์กร ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อม” ศ.ดร.สมปอง กล่าว

.

ผอ.บพค.กล่าวด้วยว่า อีกผลงานหนึ่งที่ บพค.ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) คือสื่อสารให้กับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้รู้ว่ากระทรวง อว.มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมให้บริการเป็นจำนวนมาก มีอุปกรณ์ มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมได้ ถือเป็นการเปิดการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการพร้อมมีการแลกเปลี่ยนและรับโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนเข้ามาเพื่อพัฒนาและปรับปรุงด้านการบริการให้ตรงกับความต้องการอย้างแท้จริง

.

ด้าน ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล หน่วยวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) หัวหน้าโครงการส่งเสริมการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมองประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของยังอยู่ในวงจำกัด หน่วยงานให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประสบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ ความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ อย่างไรก็ดี เหตุผลประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การขาดการทำตลาดเชิงรุก และการการสร้างการรับรู้กับหน่วยงานภายนอก โครงการฯ มีกรอบแนวคิดในการยกระดับการเข้าถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น โดยมีการศึกษาและพัฒนาระบบ Smart Search เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการกับทุกภาคส่วน ได้แบบครบถ้วน ณ จุดเดียว ครอบคลุมการให้บริการของ 12 หน่วยงาน ววน. และฐานข้อมูลระบบข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Information System: NSTIS) เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการในการเข้าถึงให้แก่กลุ่มลูกค้า และสร้างกลไกการรับรู้และเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน การกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์และเกิดประโยชน์รวมไปถึงการสร้างผลกระทบต่อความเข้มแข็งด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000022078