หลายสิ่งหลายอย่างในปีนี้ ต่างนำมาซึ่งการปรับตัว ท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัส และเมื่อการป้องกัน ยังคงเป็น ‘ยาแก้’ ที่ดีที่สุด หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย น่าจะยังเป็นอาภรณ์บนใบหน้าของคนจำนวนมากอยู่ต่อไป

     ตามปกติก่อนเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คนเอเชียจำนวนไม่น้อยสวมหน้ากากกันฝุ่นและการติดเชื้อกันอยู่แล้ว เมื่อถึงฤดูร้อน ความต้องการซื้อสินค้าชนิดนี้จะน้อยกว่าหน้าหนาว แต่เมื่อค.ศ. 2020 นี้ คือปีแห่งโควิด-19 ผู้ผลิตหน้ากากจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
วีโอเอเคยเสนอข่าวเกี่ยวกับหน้ากากแฟชั่นฝีมือการปักเลื่อมอย่างปราณีตมาแล้ว และเมื่อลมร้อนมาถึงธุรกิจหน้ากากรุ่น ‘ไม่เหนียวเหงื่อ’ จึงเกิดขึ้น
สื่อ The Wall Street Journal รายงานว่า เทรนด์ใหม่ ของการผลิตหน้ากากที่ระบายอากาศได้ดี ในหน้าร้อน เห็นได้ทั้งในเอเชียและในสหรัฐฯ
ที่อเมริกาบริษัท Under Armour Inc. แห่งนครบัลติมอร์รัฐแมรีเเลนด์ ได้เปิดตัว หน้ากากที่มีความระบายอากาศขั้นสูงสุด และนำกลับมาซักใหม่ได้
ในเอเชีย ผู้ประกอบการมีลูกเล่นเรื่องเนื้อผ้ามากมาย
ที่ญี่ปุ่น บริษัท Fast Retailing Co เจ้าของแบรนด์ Uniqlo มีหน้ากาก แห้งเร็ว กับเส้นใยที่มีเทคโนโลยีถ่ายเทอากาศ​ ‘Airism’
และบริษัทเครื่องนุ่งห่ม Knit Waizu ของญี่ปุ่นเช่นกัน มีหน้ากาก ‘Cooling Mask’ ที่ทำจากผ้าฝ้าย ที่สอดถุงบรรจุนำ้เเข็งทำความเย็นได้ และได้กลายเป็นสินค้าขายดีไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วน บริษัทเครื่องกีฬา Yonex เริ่มขายหน้ากาก ที่เนื้อผ้ามีสาร xylitol ซึ่งพบได้ในนำ้ตาลเทียม และสารนี้ สามารถดูดความร้อนเมื่อทำปฏิกิริยากับเหงื่อด้วย
ที่เกาหลีใต้ ทางการถึงขั้นกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับหน้ากาก ป้องกันการจับตัวเป็นเม็ดของนำ้ หรือ anti-droplet ซึ่งมากับความเบาสบายและระบายอากาศได้ดี แต่ข้อด้อยคือ หน้ากากชนิดนี้กันละอองสารได้ตำ่กว่ารุ่น N95 ที่ผู้คนรู้จักดี 35%
บริษัท Welkeeps Corp. ที่กรุงโซล บอกกับ The Wall Street Journal ว่า สามารถขายหน้ากาก anti-droplet ได้วันละ 200,000 ชิ้น ภายในไม่ถึง10 นาที เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยตั้งราคาไว้ชิ้นละประมาณ 12 บาท
นอกจากนี้ ในเมื่อผ้าต้องซับเหงื่อท่ามกลางแดดจัด จึงเกิดคำถามที่ว่าหากไม่ซักหน้ากาก ประสิทธิภาพของมันจะหย่อนลงไปไหม
ผู้เชี่ยวชาญ Jeremy Howard แห่งมหาวิทยาลัย University of San Francisco ที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากาก กล่าวว่า หน้ากากที่อมเหงื่อ มิได้ลดความสามารถในการปกป้องผู้สวมใส่จากเชื้อโรค อย่างไรก็ตามเขาเเนะนำให้ซักหน้ากากบ้าง เมื่อถึงเวลาอันสมควร ตามรายงานของ The Wall Street Journal
สำหรับประชาชนสิงคโปร์ ไม่ว่าหน้ากาก จะอมเหงื่อเท่าใด ท่ามกลางฤดูนี้ในเขตอากาศร้อนชื้น ก็คงต้องคำนึงว่า หากอยู่ในที่สาธารณะ แบบไร้เครื่องป้องกันละอองบนใบหน้า คุณมีสิทธิ์โดนปรับ เป็นเงินกว่า 6,600 บาทเลยทีเดียว

ที่มา : Voice of America 25 มิถุนายน 2563  [https://www.voathai.com/a/mask-coronavirus-breathable-asia/5476746.html]