ท่ามกลางภาวะวิกฤตทางสุขภาพ ที่ประชากรโลกเต็มไปด้วยผู้ป่วยโรคอ้วนที่นับวันจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ทีมวิจัยทางการแพทย์ของจีนมีการค้นพบครั้งสำคัญ ซึ่งชี้ว่าวิธีลดความอ้วนแบบหนึ่ง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ต่อพลวัตการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงกับลำไส้ อันจะนำไปสู่การลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

.

คณะนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยระดับคลินิกแห่งชาติจีนเพื่อการศึกษาโรคผู้สูงอายุ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Frontier in Cellular and Infection Microbiology ว่าได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคอ้วน 25 คน เป็นเวลา 62 วัน โดยให้จำกัดพลังงานที่ได้รับด้วยการอดอาหารเป็นบางช่วงเวลา ( Intermittent Energy Restriction - IER) ซึ่งผู้วิจัยจะจัดอาหารที่มีแคลอรีในปริมาณที่จำกัดเอาไว้ให้รับประทาน พร้อมกับให้อดอาหารในบางเวลาของบางวันด้วย

.

ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถลดน้ำหนักได้โดยเฉลี่ยคนละ 7.6 กิโลกรัม หรือราว 7.8% ของน้ำหนักตัวที่มีอยู่เดิม แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ทีมผู้วิจัยพบความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน รวมทั้งพบว่าสัดส่วนของชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ในลำไส้ ที่เรียกว่า “ชีวนิเวศจุลชีพ” หรือไมโครไบโอม (microbiome) ยังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วย

.

ทีมผู้วิจัยได้ใช้เครื่องสแกนเอฟเอ็มอาร์ไอ (fMRI) ตรวจสอบการทำงานในสมองของผู้เข้าร่วมการทดลอง ทั้งในช่วงระหว่างและหลังสิ้นสุดการทดลองแล้ว พบว่าสมองส่วน inferior frontal orbital gyrus ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความอยากอาหารและการเสพติด มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในการทำงานสอดประสานกับลำไส้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “สมองที่สอง” ของมนุษย์

.

ส่วนผลตรวจเลือดและอุจจาระของผู้เข้าร่วมการทดลองยังชี้ว่า มีสัดส่วนของจุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นชนิดที่มีความเกี่ยวข้องในการทำงานอย่างสอดคล้องต้องกันเป็นแนวร่วมระหว่างสมองและลำไส้ (gut-brain axis) อย่างเช่นแบคทีเรีย Coprococcus comes และ Eubacterium hallii ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับซีกซ้ายของสมองส่วน inferior frontal orbital gyrus ที่ควบคุมความสามารถในการบริหารจัดการ และการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงความตั้งใจที่จะควบคุมพฤติกรรมการกินด้วย

.

ดร.หวัง เซี่ยวหนิง หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากศูนย์คลินิกโรคคนชราแห่งรัฐจีน บอกว่าระบบจุลชีวนิเวศในลำไส้อาจจะมีการสื่อสารสองทางกับสมองโดยตรง ผ่านการผลิตสารสื่อประสาทและสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทบางอย่าง ซึ่งจะเข้าไปยังสมองทางกระแสเลือดและเครือข่ายเซลล์ประสาท ทำให้สมองทำงานควบคุมพฤติกรรมการกินได้ดีขึ้น

.

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ระบุว่า ความอ้วนนั้นส่งผลให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร จนผู้ป่วยโรคอ้วนไม่อาจปรับพฤติกรรมให้ลดน้ำหนักลงได้โดยง่าย ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นข่าวดี สำหรับคนอ้วนที่ท้อแท้หมดหวังในการพยายามปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้นว่ายังมีหนทางที่เป็นไปได้อยู่ ซึ่งหลังจากนี้ทีมผู้วิจัยมุ่งหวังจะศึกษาถึงกลไกเบื้องลึกระหว่างสมองและลำไส้ ที่เกิดจากการอดอาหารเป็นช่วงแบบ IF ต่อไป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c28yj0grpv8o