หนึ่งในวิธีต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบง่าย ๆ คือการเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช โดยทั่วไปจะผลิตจากถั่วเหลืองและพืชต่าง ๆ ซึ่งมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ ปัจจุบันถูกผลิตออกมาจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเบอร์เกอร์ นักเก็ต ไส้กรอก และเนื้อเพื่อนำไปประกอบอาหาร

.

เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มผู้ที่ทานมังสวิรัติและบุคคลทั่วไป เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า อีกทั้งไม่เป็นการทำร้ายสัตว์ และยังช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากโรคที่เกิดในสัตว์ อย่างเช่น โรคไข้หวัดนก ซึ่งคร่าชีวิตสัตว์ปีกทั่วโลกไปจำนวน 131 ล้านตัวในปีที่แล้ว

.

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป การผลิตเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชยังใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินในปริมาณน้อยกว่า รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยยะสำคัญ

.

อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ทำจากพืช คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของการบริโภคโปรตีนทั่วโลก ต้นทุนของเนื้อสัตว์จากพืชมักที่จะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์ม แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมองว่าราคาที่สูงกว่าไม่ใช่อุปสรรค แต่รสชาติคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่เลือกรับประทานอย่างแพร่หลาย

.

ดีน่า ปาซ เชฟฝ่ายบริหารของบริษัท Meati ในรัฐโคโลราโด ผู้ผลิตเนื้อไก่และเนื้อเสต็กจากพืช กล่าวว่า “เราสามารถผลิตเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับ (เนื้อสัตว์) ของจริงได้อย่างมาก” โดยเธอเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์การของการรับประทานที่แทบจะไม่ต่างจากการกินเนื้อสัตว์ทั่วไป

.

ในขั้นตอนการผลิต เนื้อสัตว์จากพืชของบริษัท Meati จะใช้รากใยเห็ดหมักด้วยน้ำตาลในถังน้ำแสตนเลสขนาด 25,000 ลิตร และจะระบายของเหลวจากการหมักที่มีลักษณะคล้ายซอสแอปเปิ้ลจากถังดังกล่าวในทุก ๆ 22 ชั่วโมง

.

วัตถุดิบที่ได้จะถูกแปรรูปให้เป็นแผ่นเนื้อสัตว์ และนำไปปรุงให้สุก จากรากใยเห็ดปริมาณเล็กน้อยที่ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในระยะเวลาเพียงสี่วัน สามารถผลิตเนื้อเทียมได้เทียบเท่ากับมูลค่าของเนื้อสัตว์ที่มากจากวัวหนึ่งตัวเลยทีเดียว

.

โรงงานผลิตของบริษัท Meati ที่มีขนาด 100,000 ตารางฟุต คาดว่าจะสามารถผลิตเนื้อสัตว์จากพืชได้มากกว่า 18 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของปริมาณเนื้อเสต็กที่ขายต่อปี ในเชนร้านอาหารเม็กซิกันชื่อดังอย่าง Chipotle หนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัท Meati

.

สก็อตต์ ทัสซานี ประธานและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Meati เชื่อว่าสิ่งที่จะมาช่วยดึงให้ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชในสหรัฐฯ กลับฟื้นตัว คือรสชาติที่อร่อยขึ้น ส่วนผสมที่ซับซ้อนน้อยลง คุณค่าทางสารอาหารที่ดีขึ้น และการขยายภาคการผลิตเพื่อลดต้นทุน

.

อ้างอิงข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร Good Food Institute ระบุว่าระหว่างปี 2017 ถึงปี 2020 ในสหรัฐฯ มีบริษัทและแบรนด์ที่ผลิตเนื้อสัตว์จากพืชอย่างน้อย 55 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่อย่าง Tyson Foods เข้ามาร่วมด้วย ยอดขายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์

.

ตัวเลขสถิติจากบริษัทวิจัยการตลาด Euromonitor ชี้ว่าระหว่างปี 2020 ถึงปี 2022 ยอดขายเนื้อสัตว์จากพืชปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยที่ 2% ขณะที่ยอดขายเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นถึง 12.7%

.

ทางด้านองค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ หรือ FAO เผยถึงปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์เมื่อเทียบต่อหัวประชากรในปี 2020 พบว่า สหรัฐฯ อยู่ในอันดับสอง และฮ่องกงอยู่ในอันดับที่หนึ่ง

.

การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ชี้ว่าก่อนปี 2030 หากมีการทดแทนเนื้อสัตว์ที่ถูกบริโภคในสหรัฐฯ ปริมาณครึ่งหนึ่ง ด้วยเนื้อสัตว์เทียมที่มาจากพืช จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าการกำจัดรถยนต์จำนวน 47.5 ล้านคันต่อปีออกจากถนน และยังช่วยให้สหรัฐฯ เข้าใกล้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่ตั้งไว้สูงถึงหนึ่งในสี่เลยทีเดียว

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/can-new-technologies-persuade-meat-lovers-to-ditch-beef-or-chicken-for-plant-based-alternatives-/7369346.html