สัปดาห์นี้ชวนดูสถาบันทางการแพทย์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดดเด่นด้านโภชนาการอาหาร เสริม “นมเปรี้ยวยาคูลท์” ในมื้ออาหารหลัก ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ผู้ป่วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งของสารอาหารที่จะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และเป็นแหล่งพลังงานในการทำกิจกรรม เคลื่อนไหว ใช้ความคิดต่าง ๆ อีกทั้งสารอาหารเหล่านี้ยังช่วยให้ทุกอวัยวะทำงานได้อย่างเป็นปกติ รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และอาหารบางอย่าง ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ด้วย
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ถ้าใครยังจำได้ เราเคยพาบุกไปถึงประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากที่นั้นเขาได้ทำการวิจัยสุขภาพของนักบินอวกาศ เพื่อที่จะศึกษา “จุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส คาเซอิ สายพันธุ์ชิโรต้า” ในขวดยาคูลท์ โดยอยู่ในสภาพสุญญากาศ หรือ “นอกโลก” ฉะนั้นในวันนี้ก็มีสาระดี ๆ มาฝากกันเช่นเคย แต่จะเป็นเรื่องอะไรไปติดตามกันเลย
เมื่อพูดถึง Tokyo Medical and Dental University (TMDU) ชาวญี่ปุ่นก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นสถาบันทางการแพทย์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 สถาบันแห่งนี้นอกจากจะมีชื่อเสียงด้านการรักษาโรค ดูแลบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในระดับสากลแล้ว ยังมีชื่อเสียงด้านการจัดสรรอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย ช่วยดูแล เยียวยาผู้ป่วย เสริมสร้างการรักษาให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
สถาบันทางการแพทย์ TMDU ถือเป็นทั้งโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมาย คือ การให้ความรู้แก่บุคคลที่กำลังจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ รวมถึงแพทย์และทันตแพทย์ การสร้างระบบสำหรับการศึกษาวิจัยในสาขาการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สนับสนุนการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาการแพทย์และการวิจัย ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาล มีขนาดรวม 753 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก เฉลี่ยจำนวน 2,278 คน/วัน และผู้ป่วยใน เฉลี่ยจำนวน 654 คน/วัน
นอกจากความโดเด่นในทางการแพทย์และการวิจัยแล้ว สถาบันทางการแพทย์ TMDU ยังโดดเด่นด้านระบบโภชนาการอาหาร ซึ่งสามารถจัดสรรอาหารแต่ละมื้อให้แก่ผู้ป่วย ผ่านแพทย์ร่วมกับนักโภชนาการ เพื่อกำหนดสารอาหาร และพลังงานจากอาหารที่เหมาะสมสำหรับการบำรุงร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ต้องเป็นวัตถุดิบที่สด ใหม่ สะอาด และต้องไร้การปนเปื้อนสารใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้รับประทานโดยเด็ดขาด
ส่วนการประกอบอาหารในโรงพยาบาลแต่ละมื้อ จะมีไม่น้อยกว่า 600 ที่ เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย โดยอาหารจะมีกว่า 126 เมนู สำหรับเมนูอาหารแบบปกติจะหมุนเวียน 28 วัน ซึ่งจะต้องไม่ซ้ำกัน ส่วนอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยเฉพาะทางนั้น จะมีเมนูหมุนเวียน 7 วัน ซึ่งต้องไม่ซ้ำกันเช่นกัน ทั้งนี้การหมุนเวียนเมนูดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหาร จากวัตถุดิบที่หลากหลาย และทานอาหารที่ถูกปาก อร่อย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยทานอาหารได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากจากเมนูประจำวันโดยปกติแล้ว ทางโรงพยาบาลจะมีเมนูอาหารในวันพิเศษ เช่น ปีใหม่ วันเด็ก คริสต์มาส เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดรู้ความสึกพิเศษเสมือนได้อยู่กับครอบครัว เป็นการให้กำลังใจผู้ป่วยอีกทางหนึ่งนั่นเอง
ทั้งนี้การเสิร์ฟอาหารให้แก่ผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลจะควบคุมอุณหภูมิของอาหาร ทั้งร้อนและเย็น โดยใช้ตู้สำหรับจัดเก็บและเสิร์ฟอาหาร (The Rolls Royce) ซึ่งมีราคาต่อตู้กว่า 7 ล้านเยน (ประมาณ 1.9 ล้านบาท) ประโยชน์ของเจ้าตู้นี้ คือ เพื่อคงความสดใหม่ของอาหารแก่ผู้ป่วย รสชาติดีแบบปรุงเสร็จจากเตา และควบคุมดูแลความสะอาด สุขอนามัยในอาหารได้อย่างสูงสุด โดยโรงพยาบาลจะนำอาหารจัดเก็บใน The Rolls Royce และเคลื่อนย้ายตู้ เสิร์ฟอาหารให้ผู้ป่วยในแผนกต่าง ๆ
แน่นอนว่านอกจากอาหารแล้ว ยังมีเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้ป่วยทุกคนด้วย โดยสถาบันทางการแพทย์ TMDU จะเลือก “นมเปรี้ยวยาคูลท์” เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เสริมเข้าในมื้ออาหารของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์และนักโภชนาการ ระบุว่า “ยาคูลท์” เป็นเครื่องดื่มที่ผู้คนในญี่ปุ่นคุ้นเคย มีประวัติอันยาวนาน และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีจุลินทรีย์โพรไบโอติก แลคโตบาซิสลัส คาเซอิ สายพันธ์ชิโรต้า ผ่านการศึกษาวิจัยแล้วว่าช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบลำไส้ อีกทั้งยังกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะ มีส่วนทำให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ลดน้อยลงหรือถูกทำลายไป เมื่อผู้ป่วยได้ดื่มนมเปรี้ยวยาคูลท์เสริมจากอาหารมื้อหลัก ก็จะเป็นส่วนช่วยฟื้นฟูร่างกาย เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ จึงทำให้ลดอาการท้องผูก ท้องเสีย ทั้งยังทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้นได้ ซึ่งไม่เพียงผู้ป่วยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังใช้นมเปรี้ยวยาคูลท์ เสริมให้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องทานอาหารเหลวผ่านเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยร่วมด้วย
ดังนั้น “อาหาร” จึงถือเป็นหนึ่งในยาบำรุงร่างกาย ยิ่งในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ การทานอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบถ้วนอย่างเหมาะสม และที่สำคัญรสชาติอร่อยถูกปาก ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทั้งกำลังกายและใจให้แก่คนป่วยได้หายจากภัยโดยเร็ว
ที่มา : Dailynews online 11 ธันวาคม 2562 [https://www.dailynews.co.th/regional/746221]