นักวิจัยเผยปริมาณออกซิเจนในทะเลต่ำลง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทร เมื่อออกซิเจนในท้องทะเลกำลังหมดลง

เหตุภาวะโลกร้อนและการปนเปื้อนของสารเคมีจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ กำลังทำให้ออกซิเจนหายไปจากมหาสมุทรและคุกคามชีวิตของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดใหญ่กำลังขาดอากาศหายใจ
ปัจจุบัน พื้นที่มหาสมุทรประมาณ 700 แห่ง มีปริมาณออกซิเจนอยู่ในระดับต่ำจนอันตราย เมื่อเทียบกับอีก 45 แห่งในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งนักวิจัยระบุว่า การสูญเสียออกซิเจนในทะเลนี้ เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลหลายสปีชีส์ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น ฉลาม ปลาทูน่า และปลากระโทงทั้งหลาย
เกรเทล อากิลา (Grethel Aguilar) รักษาการผู้อำนวยการของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for the Conservation of Nature - IUCN) กล่าวในงานประชุม COP25 ว่า สุขภาพของมหาสมุทรควรเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ออกซิเจนขาดแคลนอย่างหนัก ทั้งยังส่งผลให้ความสมดุลอันเปราะบางของสัตว์น้ำเกิดความยุ่งเหยิงอีกด้วย
ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนต่ำลง ซึ่งตอนนี้ มหาสมุทรจะสูญเสียปริมาณออกซิเจนไปอีก 3-4% ภายในปี ค.ศ.2100 และจะเกิดผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลที่ 1,000 เมตรจากผิวน้ำ ซึ่งเป็นระดับที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด รวมถึงแนวทะเลที่อยู่บริเวณกลางเส้นละติจูดถึงเหนือขึ้นไป
ระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลง ทำให้ปลาทั้งหลายต้องอพยพไปยังผิวน้ำและพื้นที่ทะเลตื้น ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกจับปลาโดยชาวประมงมากขึ้น ขณะเดียวกัน บางพื้นที่ที่มีระดับออกซิเจนต่ำว่าจุดอื่นอยู่แล้ว แต่เมื่อออกซิเจนลดลง ก็อาจจะเพิ่มความเสียหายให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ดังกล่าวหนักขึ้นไปอีก
ตามข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) รายงานว่า ทั้งการทำประมงเกินขนาด ขยะพลาสติกในทะเล ต่างก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหาสมุทรทั่วโลก ตอนนี้ ทะเลมีสภาพเป็นกรดมากกว่าในช่วงก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 26% เนื่องจากดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในชั้นบรรยากาศ
“เพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของพื้นที่ที่ขาดแคลนออกซิเจน เราต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับการควบคุมมลภาวะจากธาตุอาหารพืช (Nutrient pollution) ที่มาจากการทำเกษตรกรรมและแหล่งอื่นๆ” แดน ลาฟฟอรี (Dan Laffoley) หนึ่งในผู้เขียนรายงานจาก IUCN กล่าว

ที่มา : Manager online 9 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000117413]