มว. จับมือ สตช. จัดพิธีแถลงข่าว “โครงการเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย “เมาแล้วขับ” ด้วยระบบมาตรวิทยา” เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของพันธกิจไปสู่ภาคสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจ ในเทคนิคและกระบวนการการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ตลอดจนการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้เป็นข้อบังคับทางด้านกฎหมาย

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดพิธีแถลงข่าว “โครงการเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย “เมาแล้วขับ” ด้วยระบบมาตรวิทยา” พร้อมส่งมอบวัสดุอ้างอิงประเภทก๊าซแอลกอฮอล์มาตรฐานที่ใช้ในการสอบเทียบ เครื่องมือวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ผลิตโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติพร้อมอุปกรณ์ ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 2 กองบังคับการตำรวจราจร (บก.จร.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
ปัจจุบันประเทศไทย มีอัตราการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ จากอุบัติเหตุทางท้องถนนโดยมีสาเหตุหลักจากการเมาแล้วขับ เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 16 พ.ศ. 2537 ออกตามความใน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (1) การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ใช้เครื่องตรวจวัด ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจ (Breath Analyzer Test) ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนำมาใช้ปฏิบัติแล้วเป็นเวลากว่า 24 ปี แต่อัตรา การเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมอัตราการสูญเสียจากการเมาแล้วขับได้ถึงแม้จะมีการประกาศใช้กฎหมาย คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและปฏิเสธไม่ได้ว่าความ น่าเชื่อถือของค่าการวัดจากเครื่องมือที่อ่านได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มั่นใจในการจับกุมที่ อาจจะนำมาซึ่งข้อพิพาทในกรณีผลการตรวจวัดที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ดังนั้นหากผู้บังคับใช้กฎหมายมีความ เข้าใจในการใช้เครื่องมือและการดูแลรักษาเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ รวมถึงเครื่องมือได้รับการสอบเทียบตามหลักการทางมาตรวิทยาแล้ว จะส่งผลให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ณ จุดตรวจวัดปริมาณระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างจริงจัง ทำให้จำนวนผู้ขับขี่ที่เมาสุราบนท้องถนนลดลง
ด้วยเหตุนี้ มว.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบการวัดของชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ ได้มีแนวคิดริเริ่มโครงการบูรณาการร่วมกับ สตช.ในการจัดทำ “โครงการเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย “เมาแล้วขับ” ด้วยระบบมาตร วิทยา” เพื่อวิจัยและพัฒนาวัสดุอ้างอิง (TRM) สำหรับใช้ทวนสอบเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ให้สามารถวัดค่าได้ ถูกต้องในการใช้งาน รวมถึงจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้สามารถใช้งาน และดูแลเครื่องมือวัดได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐาน
การจัดทำโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยวิธีเป่าลมหายใจที่จะนำมา บังคับใช้กับประชาชนว่าจะให้ผลการตรวจวัดที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำขณะใช้งาน เนื่องจากมีการสอบกลับได้ทางการวัด (Measurement Traceability) ที่อ้างอิงหน่วย SI ที่นานาชาติยอมรับ ตลอดจนสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการส่งมอบนวัตกรรมวัสดุอ้างอิงประเภทก๊าซแอลกอฮอล์มาตรฐานที่ใช้ในการสอบเทียบเครื่องมือวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ผลิตโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติและพร้อมใช้งานได้ทันที โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ใกล้จะถึงนี้

ที่มา : Manager online 19 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000121216]