ปี 2020 ยังคงเป็นธีมของ Going Zero Waste เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดายและทำได้ทันที แม้ว่าทุกคนจะตระหนักดีว่าเรื่องของ Zero Waste มีความสำคัญในลำดับสูงและกระทบต่อภาวะโลกร้อนด้วยก็ตาม
ที่ผ่านมาคำว่า Zero Waste ไม่ได้หมายความว่า Zero ทั้งหมดจริงๆ หากแต่หมายถึงความพยายามถึงที่สุดที่จะทำให้ปริมาณขยะที่ทิ้งในผืนดินลดลงเหลือน้อยที่สุด ผ่านการบริหารจัดการขยะในแนวทางใหม่ๆ ที่เหมาะสม แตกต่างกันออกไป และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตของแต่ละคน
ด้วยเหตุนี้ปี 2020 จึงมีการขยายความของ Zero Waste จาก 3 Rs ที่ครอบคลุม Reduce, Reuse, Recycle เป็น 5 Rs ประกอบด้วย Refuse, Reduce, Reuse, Rot, Recycle
การดำเนินการ R ที่ 1 Refuse หรือการปฏิเสธ ไม่รับ ไม่เอาพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถูกกำหนดให้เป็นขั้นตอนแรกของ Zero Waste ได้แก่ ถ้วยกระดาษ เครื่องใช้ในครัว วัสดุจากพลาสติก และรายการที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้แทน และจัดหาอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อใช้ทดแทนร้านค้าปลีกและร้านอาหารเครื่องดื่มทั้งหลาย
นอกจากนั้น Refuse ยังหมายถึง การปฏิเสธสิ่งของทั้งหลาย วัสดุใดๆ ที่จะทำลายสภาพแวดล้อม หรือไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็น ECO-label หรือ Green Products
การดำเนินการ R ที่ 2 Reduce การลดลงของพฤติกรรมการจัดซื้อรายการที่ไม่จำเป็น อยู่อย่างพอเพียง ทำให้การดำเนินชีวิตเป็น Zero Waste ได้ทางหนึ่ง เป็นการสร้างจิตสำนึกในตนเองในการปรับพฤติกรรมการซื้อการจ่ายเงินประจำวันใหม่
เป็นการเรียนรู้ที่จะแยกแยะรายจ่ายจำเป็น รายจ่ายฟุ่มเฟือยให้ชัดเจน รวมทั้งลดการรับหีบห่อที่ไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ หรือเท่ากับการลดขยะของโลก รวมทั้งเลิกพฤติกรรมเลียนแบบการบริโภคหรือโหนกระแส หากรู้ว่าจะทำลายสภาพแวดล้อมและสถานะทางการเงินในอนาคตของตนเอง
การดำเนินการ R ที่ 3 Reuse การใช้ซ้ำ เป็นหนทางในการเก็บรักษาสิ่งของโดยไม่ทิ้งลงพื้นดินเป็นขยะทุกอย่าง ด้วยการนำมาซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ เมื่อแตกหักหรือสึกหรอ โดยไม่พยายามซ่อมบำรุงหรือดัดแปลงใช้ใหม่ก่อน ด้วยวิธีการ DIY เช่น เสื้อผ้าเก่า อาจจะเปลี่ยนเป็นกระเป๋าผ้าหรือเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือเศษอาหารเก่าสามารถปรับเป็นข้าวผัดหรือน้ำซุป บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาจจะนำไปใช้เพื่อการอื่น
การดำเนินการ R ที่ 4 Rot หมายถึงเศษอาหาร เศษซากสัตว์ที่ทิ้งแล้วหลังจากการแยกออกจากส่วนที่นำไปใช้ ที่สามารถนำไปส่งต่อที่ศูนย์กลางที่รับเศษอาหารไปใช้ เช่น ตลาดสดเกษตรกร หรือสวนสาธารณชุมชนที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะสามารถใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกต้นไม้ได้ เป็นต้น และปัจจุบันซากเศษอาหารนี้นำไปแปลงสภาพเป็นพลาสติกแบบไบโอได้ด้วย ซึ่ง Rot นี้รวมถึงการนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นหรือ Repurpose นั่นเอง
การดำเนินการ R ที่ 5 Recycle ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถจะใช้ R ตัวอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น Refuse, Reduce, Reuse หรือ Rot แล้ว ทางเดียวคือแยกออกเพื่อเอาส่วนที่รีไซเคิลได้ไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัย และแนวคิดเชิงนวัตกรรมระบบรีไซเคิลมากมาย ทั้งกรณีพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงให้ 5 Rs สามารถเกิดได้จริง คือ ระบบการบริหารจัดการขยะในรูปแบบใหม่ ซึ่งรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ชนิดเก็บรวมและเทรวมกันใช้ไม่ได้อีกต่อไป ในการทำให้ขยะไม่เททิ้งบนพื้นดินหรือแหล่งน้ำ
การบริหารจัดการขยะที่ดีจะช่วยให้ 5 Rs สามารถทำได้จริง คือ การแยกขยะไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับการจัดเก็บและนำไปตามระบบการจัดการขยะใหม่ การสร้างบทปรับที่ทำให้ทุกคนใส่ใจเพราะกระทบรายจ่ายของตนเอง ซึ่งการบริหาร 5 Rs นี้จะทำให้ประเทศมีโอกาสเกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแนวความยั่งยืนโดยรวม
นอกจาก 5 Rs แล้ว ปี 2020 ยังมีการพูดถึง 7 Rs ด้วยในวัน The Earth Day
1.Refuse ปฏิเสธในการเกี่ยวข้อง การซื้อใช้ตั้งแต่แรก
2.Reduce ใช้น้อยลงเท่าที่จำเป็น จะทำให้เราทิ้งขวางลดลง โดยเฉพาะอาหารเกินในตู้เย็น
3.Reuse ใช้ซ้ำอีกครั้งก่อนจะนำไปทิ้งเป็นขยะ เช่น ขวดน้ำพลาสติก เสื้อผ้า แทนไปซื้อใหม่ทุกครั้ง
4.Recycle ส่งไปยังโรงงานผลิตเพื่อทำการแปลงให้เป็นของใหม่ให้สามารถใช้ซ้ำได้
5.Repurpose เป็นการทำตามกรอบ Reuse แต่ในแนวทางใหม่ตามเทคนิค DIY เป็นสิ่งของใหม่ที่นำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น หรืออาจจะเรียกว่า Upcycle ก็ได้ ถ้ามูลค่าแตกต่างจากเดิมมาก โดยไม่ได้ทำการยุบหรือทำลายก่อนเหมือนกรณี Recycle
6.Rot การนำกากเศษอาหารมาใช้ประโยชน์อื่น แทนที่จะทิ้งไป
7.Repair การทำการแก้ไข ซ่อมแซมกลับมาใช้แทนที่จะทิ้งไป แล้วไปซื้อของใหม่ทุกครั้ง เช่น ซ่อมจักรยาน พัดลม
ที่มา : Manager online 16 มกราคม 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000004878]