วช.ประสบความสำเร็จโครงการวิจัยท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ พบวิธีใหม่คัดกรองผู้ป่วยด้วยการตรวจปัสสาวะ ขยับใกล้เป้าหมายกำจัดโรคให้หมดใน 5 ปี

คนไทยกว่า 20,000 รายต่อปีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุระหว่าง 40-60 ปี เป็นโรคที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งชนิดนี้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารทุนวิจัยหลักของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจน เรียกว่า “โครงการวิจัยท้าทายไทย”สนับสนุนทุนให้กับโครงการ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ให้แก่เครือข่ายการวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำ สู่การตั้งเป้าท้าทายให้โรคพยาธิใบไม้ตับหมดไปจากประเทศไทยภายใน 5 ปี
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานบริหารทุนวิจัยหลักของประเทศ และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานการวิจัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งอยู่ในโครงการวิจัยท้าทายไทยที่เป็นกลยุทธ์หลัก และได้จัดสรรทุนให้โครงการ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็นโครงการที่ท้าทายนักวิจัยได้ศึกษาและดำเนินการให้โรคพยาธิใบไม้ตับหมดไปใน 5 ปี บูรณาการความร่วมมือของนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญคือความร่วมมือจากชุมชนทุกภาคส่วนในพื้นที่หลัก เพื่อการเกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน
"จากการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการวิจัยนี้ได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากจากการทำวิจัยและนำผลไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งก่อเกิดผลกระทบในการลดอัตราผู้ป่วย การติดเชื้อ ตลอดจนอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างน่าภาคภูมิใจ”
รองศาสตราจารย์ นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีได้กล่าวว่า นับตั้งแต่ ครม.เห็นชอบยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 2559-2568 เมื่อ 21 มิถุนายน 2559 บัดนี้ได้ผ่านมาแล้ว 3 ปีและกำลังอยู่ในปีที่ 4 แล้ว ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณบูรณาการผ่านกระทรวงสาธารณสุข โดยอยู่ในแผนพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต และได้ให้งบประมาณให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลอำเภอ และโรพยาบาลจังหวัดในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด
"จะเห็นได้ว่าเริ่มมีงบกระมาณในการจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลเริ่มให้อุปกรณ์ เครื่องมือในการจัดการปัญหานี้แล้ว ก็พอจะเชื่อได้ว่าโอกาสที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้เริ่มจะพอมองเห็นความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ที่เหลืออยู่ก็จะต้องคอยติดตามการปฎิบัติงานของภาครัฐต่อไป”
ทีมผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ สัมภาษณ์ ดร.กุลธิดา ยะสะกะ หนึ่งในทีมวิจัยจากภาคปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงงานวิจัยว่าหนึ่งในสาเหตุหลักของการก่อให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี คือการที่ผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ โดยกว่าจะรู้อีกทีก็กลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีไปแล้ว วิธีการหนึ่งในความพยายามลดอุบัติการโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ การกำจัดพยาธิใบไม้ตับให้หมดไปจากพื้นที่ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโดยการตรวจอุจจาระตามวิธีมาตรฐานที่ถือปฏิบัติมาเป็นเวลานานนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ
เพื่อแก้ปัญหานี้คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะที่สามารถตรวจหาสารคัดหลั่งของพยาธิในปัสสาวะในรูปแบบชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็วสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับขึ้นมา
อีกทั้งเพื่อการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตามนโยบายทศวรรษแห่งการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปี 2559 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจคัดกรองประชาชนใน 21 จังหวัดในประเทศไทย จำนวนประชากรที่ได้รับการตรวจปัสสาวะประมาณ 20,000 คน และพบว่า มีอัตราชุกของพยาธิใบไม้ตับสูงถึง 40% ในขณะที่การตรวจอุจจาระพบอุบัติการ 10% ดังนั้นการตรวจปัสสาวะจะปฏิรูปการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา :  Manager online 20 มกราคม 2563 [https://mgronline.com/science/detail/9630000006342]