วช.โชว์ความสำเร็จสกรู-แผ่นดามกระดูกจากงานวิจัยไทย ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 100%

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำผู้สื่อข่าวพิสูจน์ความสำเร็จของ "แผ่นดามกระดูกและสกรูทางออโธปิดิกส์ " ผลงานวิจัย ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี
พร้อมกันนี้ นายแพทย์พลชัย วงศ์ทองสาลี นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้างานศัลยกรรม ออโธปิติกส์ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี ได้เผยผลการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าว เพื่อรักษาผู้ป่วยกระดูกหักจากอุบัติเหตุ สำหรับผู้ป่วยที่กระดูกแขนหัก สามารถใส่นวัตกรรมนี้ได้ตลอดไป และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 100% และยกของหนักได้ ส่วนผู้ป่วยที่ขาหักที่หายดีแล้วบางราย ต้องผ่าตัดนำแผ่นดามและสกรูออก
รศ.ดร.อนรรฆ ได้วิจัยการออกแบบผลิตแผ่นดามกระดูกและสกรูยึดกระดูกจากวัสดุโลหะผสมไทเทเนียม ที่มีความหนาน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติ และสกรูที่สามารถยึดติดได้นานและหลวมยากกว่าที่ใช้ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการออกแบบ เลือกวัสดุ และการนำเทคโนโลยีการปรับสภาพผิวที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของวัสดุ และสร้างต้นแบบวัสดุแผ่นดามกระดูก สกรูยึดตรึงกระดูก ให้พร้อมใช้งานสำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม
แผ่นดามกระดูก สกรูยึดตรึงกระดูก ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น แต่ต้องผ่านมาตรฐานการใช้งานได้ เช่น การทดลองในสัตว์และการทำทดสอบทางคลินิก นอกจากนี้ยังทดสอบตามมาตรฐานวัสดุการแพทย์ เพื่อพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยในการทดสอบทางคลีนิก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และมีผลเป็นที่น่าพอใจ
"ทางการแพทย์ปัจจุบันพบว่า โรคกระดูกถือเป็นปัญหาอันดับ 2 ของโลก การรักษาโรคกระดูกหักจะมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผ่นดามกระดูก สกรูยึดกระดูก เพื่อยึดตรึงกระดูกและจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกที่เกิดการแตกหัก การใช้งานแผ่นดามกระดูกยังพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดการแตกหักภายในร่างกายมนุษย์ เนื่องจากความแข็งแรงไม่เพียงพอ เกิดความยากในการเย็บปิดแผลและเกิดความรำคาญให้กับผู้ป่วย" รศ.ดร.อนรรฆกล่าวถึงปัญหา
งานวิจัยของ รศ.ดร.อนรรฆได้ผลเป็นแผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ ที่เป็นวัสดุฝังในเพื่อฟื้นฟูกระดูกที่มีความยืดหยุ่นยิ่งยวดทำให้เกิดความเสียหายแก่กระดูกน้อยลง และออกแบบแผ่นดามกระดูกที่สามารถลดความหนาลงได้ ปรับผิวโลหะแบบพ่นยิงด้วยอนุภาคละเอียดโดยทดสอบกับใช้ในการแพทย์กับโลหะผสมไทเทเนียมที่เป็นวัสดุและเงื่อนไขที่ดีที่สุด ผ่านการทดสอบมาตรฐานสากล และทางชีวภาพตามมาตรฐานสากลแล้ว โดยศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และนำเอาข้อมูลทั้งหมดเข้ากรรมการจริยธรรม อีกทั้งผลิตโดยผู้ผลิตมาตรฐาน ISO13485 ตลอดจนผ่าน อย. ที่จะขยายผลสู่การใช้เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

ที่มา :  Manager online 24 กุมภาพันธ์ 2563  [https://mgronline.com/science/detail/9630000018600]