“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ตั้งศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉินสู้โควิด-19
ทุ่ม 250 ล้านวิจัยเชื้อและพันธุกรรมคุมโรคร้าย เตรียมติดระบบติดตามตัว46 ด่านวันที่ 16 มี.ค.นี้
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยหลัง ประชุมร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผอ.โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในสังกัด อว. เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลังจากที่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 ให้เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกว่า ในภาวะการระบาดที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เราต้องวางแผนรับมือในระยะยาว เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ซึ่งจะแบ่งการรับมือเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. การใช้ระบบติดตามตัวหรือ Tracking เพื่อติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศซึ่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและเฝ้าระวัง ด้วยแพลตฟอร์ม DDC-care โดยจะเป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรค เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวเองภายในที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและข่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้ประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อไป โดยบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวก็สามารถโหลดแอปพลิเคชัน DDC-care เพื่อรายงานสุขภาพเป็นเวลา 14 วันได้เช่นเดียวกัน
ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมอัพโหลดขึ้นทั้งในระบบของแอปเปิ้ล กูเกิ้ล และหัวเว่ย คาดว่าจะใช้งานได้ภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ และจะดำเนิการติดตั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก รวม 46 ด่าน โดยมีบริการติดตั้งผ่าน QR code ที่หน้าด่าน พร้อมระบบป้องกันคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้ ตลอดจนระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลระดับสูง
2.ความพร้อมในการบริการในช่วงวิกฤตของโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์และพยาบาลในสังกัด อว. ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่) รวมทั้งเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ โดยเน้นการใช้ระบบสุขภาพทางไกลเพื่อช่วยคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น และตอบคำถาม ผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบแสดงตำแหน่งและจัดส่งสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ เช่น การพัฒนาแผนที่แสดงตำแหน่งที่จำหน่ายหน้ากาก แผนที่แสดงตำแหน่งของห้องน้ำที่มีความปลอดภัย การรับยา รวมถึงวิธีการกระจายหน้ากากอนามัย และการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ และ การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านการผลิต เช่น หน้ากาก แอลกอฮอล์ เจล ชุดตรวจ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ
3.การตอบโจทย์การดำเนินชีวิตประจำวัน และการบริหารอุปทานสินค้าที่มีความต้องการสูงฉับพลัน ในกรณีที่เกิดวิกฤตรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน ด้วยการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน Supply Chain Management Platform ซึ่งพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เพื่อระบบการบริหารห่วงโซ่อุปสงค์ – อุปทานสินค้าของโรงพยาบาล หรือแพทย์ต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภค เพื่อการขนส่งที่รวดเร็ว ในเวลาที่เกิดวิกฤติของประเทศที่มีความต้องการสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่จะต้องเรียนและการทำงานที่บ้าน ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คณะกรรมการอาหารและยา (กองเครื่องมือแพทย์) สภาอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องมือแพทย์ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และประชาคมธุรกิจขายปลีกและขายส่ง เพื่อบริหารจัดการสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ให้มีเพียงพอต่อความต้องการ ลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น แฟมิลี่มาร์ท และบริษัท ซีพี ออล์ จำกัด เป็นต้น
4. จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการวิจัยและวิชาการ (RKEOC) โดยมอบให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยดำเนินการหลัก และประสานงานในทุกส่วนของ อว.ให้มีกลไกการจัดการความรู้ ประมวลความรู้ที่ถูกต้อง รวดเร็ว เข้าใจง่าย และเชื่อมเข้ากับกลไกของกระทรวงสาธารณสุขและของประเทศ โดย RKEOC ได้จัดทำข้อมูลต่างเพื่อเผยแพร่สถานการณ์ และองค์ความรู้กับประชาชน ทั้งในรูปแบบของ เอกสารเผยแพร่ อินโฟกราฟฟิก และคลิปวิดีโอ เช่น คลิปวิดีโอ “COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร และคุณจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร?” ร่วมกับองค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ วช. เป็นแกนกลางร่วมกับกรมควบคุมโรคในศูนย์ประสานงาน Coordinated Research Unit เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัย รวบรวมข้อมูลด้านการวิจัย โดยมีที่ตั้งของศูนย์อยู่ที่กรมควบคุมโรค วช. ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนไว้แล้ว 250 ล้านบาท โดยในขณะนี้ได้ให้ทุนวิจัยไปแล้ว 10 โครงการในประเด็นการศึกษาเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ และวิธีการวินิจฉัยและชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ รวดเร็ว และการพัฒนายาและวัคซีน
“สถานการณ์การระบาดในวันนี้ ทุกภาคส่วนพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะช่วยลดอัตราการระบาด ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความมีสติ ไม่ตื่นตระหนก ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด ล้างมือให้สะอาด ปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อว. เชื่อมั่นว่าหากทุกคนและทุกฝ่ายร่วมมือกัน ประเทศไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ที่มา : Manager online 13 มีนาคม 2563 [https://mgronline.com/science/detail/9630000025581]