ข้อมูลจากงานวิจัยเผยเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เยอรมันใช้พลังงานหมุนเวียนแซงหน้าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว โดยมีสัดส่วนพลังงานสะอาดถึง 40% ขณะที่พลังงานถ่านหินอยู่ที่ 38% นับเป็นการใช้พลังงานมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก

การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของเยอรมันนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าของชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรปนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 65% ของทั้งหมดภายในปี 2030 รวมถึงจะยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022 และกำลังวางแผนหาทางออกระยะยาวสำหรับพลังงานถ่านหิน
รอยเตอร์อ้างงานวิจัยจากองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฟรอโนเฟอร์ (Fraunhofer) ที่เผยให้เห็นว่า พลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าในเยอรมนีจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มขึ้น 4.3% โดยผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 219 เตตะวัตต์ชั่วโมง (Twh) ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของเยอรมนีทั้งเชื้อเพลิงสะอาดและเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด 542 เตตะวัตต์ชั่วโมง ส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินคิดเป็นปริมาณ 38% ของพลังงานทั้งหมด
สัดส่วนพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าของเยอรมันเพิ่มขึ้นจาก 38.2% ในปี ค.ศ.2017 โดยเมื่อปี ค.ศ.2010 มีสัดส่วนเพียง 19.1% ซึ่ง บรูโน เบอร์เกอร์ (Bruno Burger) ผู้เขียนรายงานวิจัยจากการศึกษาของฟรอโนเฟอร์นี้ กล่าวว่าภายในปี ค.ศ.2019 สัดส่วนจะเพิ่มมากกว่า 40% และจไม่ลดต่ำกว่านี้อย่างแน่นอน เนื่องจากกำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งรูปแบบของสภาพอากาศจะไม่แปรปรวนไปมาก

ที่มา : Manager online 06 มกราคม 2562  [https://mgronline.com/science/detail/9620000001317]