นักวิจัยเปลี่ยนดินแดนในที่ห่างไกล และไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนมากที่สุดในโลก ให้กลายเป็น “ห้องแล็บกลางแจ้ง” เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสทรัลแห่งชิลี (Austral University of Chile) ลงเรือจากปันตา อารีนา (Punta Arenas) มุ่งหน้าสู่ฟยอร์ดซีโนบาเญนา (Seno Ballena fjord) อ่าวแคบๆ ที่อยู่ระหว่างหน้าผาสูงชัน ซึ่งอยู่ห่างไกลทางตอนใต้สุดของภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลี
ทั้งนี้ สภาพของฟยอร์ดดังกล่าวในปัจจุบันคือสภาพในอนาคตของนิเวศทางทะเลอื่นๆ ที่คาดว่าจะขึ้นอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และการละลายของธารน้ำแข็ง
“แหล่งนี้เหมือนเป็นห้องทดลองทางธรรมชาติ เพราะช่วยเราได้ทำการทดลองโดยไม่ต้องลงมือในห้องปฏิบัติ เพื่อให้เราทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องคาดเดาถึงสิ่งนั้น” แมกซิมิเลียโน เวอร์การา (Maximiliano Vergara) นักชีววิทยาทางทะเล เผยแก่สำนักข่าวเอเอฟพี
การเดินทางไปถึงฟยอร์ดดังกล่าวค่อนข้างทุลักทุเล เพราะทีมวิจัยต้องท่องทะเลนานประมาณวันครึ่งท่ามกลางสภาพที่ไม่อาจวางใจของช่องแคบแมกเจลแลน (Strait of Magellan) ซึ่งเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก และต้องล่องไปบนแพขนาดเล็กที่ออกแบบเพื่องานวิจัย ขณะที่อยู่ท่ามกลางอยู่อุณหภมิหนาวยะเยือกของธารน้ำแข็ง และกระแสลมแรงที่มีความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในการสำรวจภาคสนามครั้งนี้ ทีมวิจัยจะได้รับข้อมูลจากระบบเซนเซอร์ที่ตรวจวัดตัวอย่างน้ำทุกๆ 3 ชั่วโมง พวกเขาจะวิจัยคุณสมบัติทางเคมี กายภาพแลชีวภาพของน้ำ ซึ่งแสดงระดับค่า pH ต่ำๆ ความเค็ม และแคลเซียม โดยเน้นเป็นพิเศษบริเวณที่เป็นน้ำตื้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
“สิ่งที่เราทำในชั่วขณะนั้นคือการสร้างฐานข้อมูล” เวอร์การากล่าว
สำหรับชื่อซีโนบาเญนานั้นเป็นชื่อที่ตั้งตามวาฬหลังค่อม (humpback whale) ที่ลงมาหากินในละแวกนั้น ซึ่งเดินทางมาจากอเมริกากลางซึ่งเป็นแหล่งผสมพันธุ์ โดยกระแสน้ำเย็นจัดในฟยอร์ดนั้นเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทางทะเลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งพบปลาซาร์ดีนและกริลล์ได้ในจำนวนมหาศาล
ทว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศของฟยอร์ดซีโนบาเญนา เนื่องจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเกาะซานตาอินเนส (Santa Ines island) และมีฝนตกเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำจืดเพิ่มระดับขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อวาฬ เพราะแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่นี้จะหมดไปด้วย
ด้าน มาร์โค อันโตนิโอ พินโต (Marco Antonio Pinto) นักชีววิทยาทางทะเลบอกเอเอฟพีว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสาหร่ายจิ๋ว (microalgae) นั้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทุติยภูมิของระบบทางทะเล หรือสัตว์ที่กินสิ่งเหล่านี้เป็นอาหารได้
พินโตกล่าวว่า ภายใต้ภาวะปกติที่มีสาหร่ายจิ๋วอย่างอุดมสมบูรณ์นั้น สาหร่ายจิ๋วจะเป็นแหล่งอาหารให้แก่แพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นแหล่งโภชนาการในห่วงโซ่อาหารที่ตรงไปถึงวาฬ
คณะสำรวจได้เก็บตัวอย่างจาก 8 จุดทดลองรอบๆ ซีโนบาเญนา เพื่อวัดผลกระทบจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเกาะซานตาอินเนส ซึ่งพบว่าการละลายเป็นไปในอัตราเร่ง จนหินโผล่ออกมาให้คณะสำรวจได้เห็น ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่ผ่านมาไม่มีอยู่
แมกซิโม แฟรงโกปูลอส (Maximo Frangopulos) หัวหน้าคณะสำรวจ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแมกเจลแลนส์ (University of Magellanes) กล่าวว่า ระดับน้ำที่ละติจูดสูงๆ ทั้งทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ให้ข้อมูลทางชีววิทยาและสรีรเคมี (physiochemical) ปริมาณมหาศาล ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลที่ใช้เพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ สำหรับโครงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หวั่นว่าจะเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (red tide) ปรากฏการณ์ที่มีจุลินทรีย์ปริมาณมากเกินซึ่งดูดซับเอาออกซิเจนปริมาณมหาศาลและผลิตสารพิษออก ที่จะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทางทะเลตายไปจำนวนมาก
ถึงตอนนี้นักวิจัยเริ่มสังเกตเห็นจำนวนวาฬหลังค่อมที่ค่อยๆ ลดลง และปรากฏสิ่งมีชีวิตอื่น อย่างเช่น สิงโตทะเล ที่ไม่เคยพบมาก่อนในแถบบริเวณดังกล่าว รวมถึงจำนวนโลมาที่มากขึ้นด้วย อีกทั้งยังพบว่าแคลเซียมคาร์บอนเนตมีความเข้มข้นลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อเปลือกแข็งของสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างหอยและหมึก หรือกริลล์ได้ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นเป็นอาหารหลักของวาฬ
“นั่นเหมือนจิ๊กซอว์ที่เราพยายามต่อเข้าด้วยกัน เพื่อทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลตั้งแต่ขั้นต้นไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจต่อภูมิภาคดังกล่าวได้” พินโตกล่าว
นอกจากนี้ปูที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาครอบๆ ช่องแคบซีโนบาเญนานั้น อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนี้ เนื่องจากจพเป็นต้องใช้แคลเซียมเพื่อสร้างกระดองที่แข็งแรง
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังวางกำหนดที่จะกลับไปยังบริเวณช่องแคบนั้นในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกใต้ เพื่อเก็บตัวอย่างใหม่ๆ และเพื่อหาว่ามีความลับอื่นใดอีกบ้างอยู่ในน้ำของภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลีที่รอการเปิดเผย
ที่มา : Manager online 15 มกราคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000004787]