ทีมนักวิจัยที่มีสมาชิกมากกว่า 30 คน ได้สรุปผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซ็ท (The Lancet) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนเราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและกินอาหาร โดยต้องลดการรับประทานน้ำตาลและเนื้อเเดงลงมาราวครึ่งหนึ่ง เเละรับประทานผัก ผลไม้ และถั่วเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ทิม เลง (Tim Lang) หนึ่งในผู้ร่างรายงานผลการศึกษาเเละศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย University of London เเละหัวหน้านโยบายของคณะกรรมการเอเอที-แลนเซ์ท (EAT-Lancet Commission) ที่รวบรวมการศึกษายาว 50 หน้านี้ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า คนเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะสร้างหายนะ
ในปัจจุบัน มีคนเกือบหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกที่หิวโหย และคนอีกสองพันล้านคนที่กินอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายมากเกินไป คนจำนวนมากเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ เเละโรคเบาหวาน ทำให้มีคนเสียชีวิตก่อนวัยถึงเกือบ 11 ล้านคนทุกปี
ในขณะเดียวกัน การผลิตอาหารทั่วโลกเป็นแหล่งสร้างแก๊สเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด เเละการเกษตรกรรมซึ่งได้ปรับโฉมหน้าพื้นที่ดินเกือบครึ่งหนึ่งบนโลก ยังเป็นกิจกรรมที่ใช้น้ำในปริมาณมากเกือบร้อยละ 70 ของแหล่งน้ำจืดทั่วโลก
โจฮัน ร็อคสตรอม (Johan Rockstrom) ผู้อำนวยการแห่งสถาบันพอทสแดมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Potsdam Institute for Climate Change Impact Research) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างผลการวิจัย กล่าวว่า หากต้องเลี้ยงคนที่จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 10,000 ล้านคนบนโลกภายในปี ค.ศ. 2050 หรือในอีก 32 ปี โดยคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรบนโลกเป็นหลัก คนเราต้องปรับเปลี่ยนไปกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดขยะอาหาร เเละลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม
เขากล่าวกับเอเอฟพีว่า เรื่องนี้ทำได้ แต่ต้องปฏิวัติการเกษตรกรรมในระดับทั่วโลก
นอกจากนี้ การวิจัยนี้ยังเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอาหารที่เรากิน โดยบอกว่าคนเราควรได้รับพลังงานจากอาหารไม่เกินวันละ 2,500 แคลอรี่
ศาสตราจารย์เลงกล่าวว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เเต่คนในชาติร่ำรวย ควรลดปริมาณเนื้อสัตว์เเละผลิตภัณฑ์นมลงและกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น
ปริมาณอาหารที่เเนะนำต่อวันนี้กำหนดว่า คนเราควรกินเนื้อเเดงเพียงวันละราว 7 กรัมจนถึง 14 กรัม หากเทียบเเล้ว เนื้อแฺฮมเบอร์เกอร์หนึ่งชิ้นมีเนื้อแดงราว 125 ถึง 150 กรัม
เนื้อวัวเป็นตัวปัญหาหลัก เพราะนอกจากปศุสัตว์จะสร้างแก๊สมีเทนปริมาณมหาศาลซึ่งเป็นหนึ่งในแก๊สเรือนกระจกเเล้ว ในหลายประเทศโดยเฉพาะบราซิล มีการตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าจำนวนมากซึ่งช่วยดูดซับเเก๊สเรือนกระจกเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์
ร็อคสตรอมเปรียบเทียบว่า ถ่านหินเป็นต้นเหตุหลักของแก๊สเรือนกระจกที่กระทบต่อภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับเนื้อวัวที่เลี้ยงด้วยธัญพืช เขากล่าวว่าต้องใช้ธัญพืชถึง 5 กิโลกรัมเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัม
และเมื่อเนื้อสเต็กหรือเนื้อเเกะถูกเสริฟเป็นอาหาร และราว 30 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่เสริฟถูกทิ้งลงถังขยะเพราะกินไม่หมด
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังจำกัดด้วยว่า คนเราควรบริโภคผลิตภัณฑ์นมลดลง โดยควรดื่มนมสดหนึ่งแก้วหรือ 250 กรัมต่อวันเท่านั้น และหากเป็นชีสหรือโยเกิร์ต ก็ต้องไม่เกิน 250 กรัมต่อวัน เเละควรกินไข่เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ฟองเท่านั้น
รายงานชิ้นนี้เจอกับคำวิจารณ์อย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์และโคนม ตลอดจนจากผู้เชี่ยวชาญบางคน
อเล็กซานเดอร์ แอนตัน (Alexander Anton) เลขาธิการสมาคมผลิตภัณฑ์โคนมแห่งยุโรป (European Dairy Association) ชี้ว่ารายงานชิ้นนี้พยายามอย่างมากในการดึงความสนใจ เเต่ควรระมัดระวังอย่างมากหากออกคำเเนะนำใดๆ เกี่ยวกับปริมาณอาหารที่คนควรรับประทาน เขาย้ำว่าผลิตภัณฑ์นมชนิดต่างๆ เต็มไปด้วยสารอาหารเเละวิตามิน
คริสโตเฟอร์ สโนวดัน (Christopher Snowdon) แห่งสถาบันด้านกิจการเศรษฐกิจ (Institute of Economic Affairs) ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า รายงานนี้เเสดงให้เห็นถึงความพยายามของกลุ่มนักรณรงค์ที่ต้องการควบคุมวิธีการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก
ด้านศาสตราจารย์ ทิม เลง หัวหน้าผู้ร่างผลการวิจัย กล่าวว่า เขาคาดอยู่ เเล้วว่าจะเจอกับคำโจมตีเเบบนี้ เเต่บริษัทผลิตอาหารที่ต่อต้านผลการวิจัยนี้ตระหนักดีว่าพวกเขาอาจไม่มีอนาคตหากไม่ปรับตัว
และว่า คำถามในตอนนี้คือเราจะรอให้เกิดวิกฤติก่อน หรือจะเริ่มวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาในตอนนี้หรือไม่

ที่มา : Voice of America 22 มกราคม 2562 [https://www.voathai.com/a/human-diet-damaging-planet-tk/4753263.html]