ในขณะชาวกรุงเพิ่งตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน แต่ชาวเหนือเผชิญปัญหานี้มานับปีแล้ว โดยสาเหตุหลักๆ คือ “การเผา” วัสดุเหลือทิ้งในการเกษตร ทว่าการส่งเสริม “หัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก” เพื่อสร้างอาหารโภชนาการสูงสำหรับโคนม เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาฝุ่นในภาคเหนือได้

“หัวเชื้อจุลินทรีย์ชนิดผงสำหรับหมักวัตถุดิบอาหารสัตว์” เป็นผลงานวิจัยของ ดร.ขรรค์ชัน ดั้นเมฆ จากคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งนำไปใช้ผลิตอาหารหมัก (Silage) สำหรับปศุสัตว์ โดยนำไปหมักกับเศษวัสดุเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ฟักทอง สับปะรด และมันสำปะหลัง แล้วได้เป็นอาหารหมักที่มีโปรตีนสูงขึ้น
จากการทดลองพบว่าเมื่อนำเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สัตว์หมักด้วยจุลินทรีย์ดังกล่าว ได้อาหารหมักที่มีโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 6-8% มีไขมันเพิ่มขึ้น 2.5-3% ซึ่งมีสารอาหารใกล้เคียงกับหญ้ารูซี่สด โดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้นั้นนักวิจัยได้คัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถหมักย่อยสลายและผลิตเอ็นไซม์ที่มีประโยชน์ อีกทั้งการใช้จุลินทรีย์หมักอาหารนี้ยังการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง เพื่อไม่ให้อาหารเน่าเสีย และช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนอาหารสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง
ล่าสุดผลงานจุลินทรีย์หมักอาหารสัตว์นี้ได้รับความสนใจและซื้อสิทธิ์เทคโนโลยีจาก บริษัท เพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายแก่เกษตรกร โดย นางปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ ระบุว่า สวทช.ภาคเหนือเตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่าน “บัญชีนวัตกรรมไทย” เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐที่สนใจสามารถจัดซื้อจ้างเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่การใช้งาน นางปิยะฉัตรเผยว่า ได้สนับสนุนให้มีการใช้จุลินทรีย์ชนิดผงสำหรับหมักอาหารสัตว์นี้แก่กลุ่มสหกรณ์โคนมไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาเรื่องต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ และขาดแคลนแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงโคนมในช้วงฤดูแล้ง โดยคาดหวังว่าเมื่อประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนใหแก่สหกรณ์เลี้ยงโคนมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นแรงจูงใจแก่เกษตรกรคนอื่นๆ หันมาใช้จุลินทรีย์สำหรับหมักอาหารสัตว์นี้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการที่ซื้อสิทธิ์เทคโนโลยีดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ทางด้าน นายวีระชัย เจือสันติสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บรัษัท เพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่าตัดสินใจเข้ามาซื้อสิทธิ์เทคโนโลยีนี้ ด้วยเป้าหมายอยากให้เกษตรกรลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เนื่องจากภาคเหนือเผชิญปัญหาหมอกควันก่อนกรุงเทพฯ มานานนับสิบปี และหากไม่ลงมือทำอะไร อนาคตลูกหลานจะอยู่อย่างไร
“ผลงานนี้ สวทช.พยายามผลักดันมา 5 ปีแล้ว แต่ยังไม่ถูกใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งจะเกิดการใช้จุลินทรีย์หมักอาหารอย่างจริงจังได้ จุลินทรีย์นี้ต้องช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกรและเพิ่มกำไรขึ้น อันดับแรกต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าลดค่าใช้จ่ายได้จริง และต้องใช้ผู้นำกลุ่มเป็นผู้ทดลองใช้ เมื่อประสบความสำเร็จก็จะมีคนตามมา(ใช้)เอง จุดเริ่มต้นในการรับสิทธิ์คืออยากมีส่วนร่วมในการลดมลพิษ เนื่องจากมีเปลือกข้าวโพดที่เหลือเยอะ ซึ่งเกษตรกรจำกำจัดด้วยการเผา แต่หากใช้จุลินทรีย์ย่อยให้โคกินก็จะช่วยลดเศษเหลือทิ้งได้มาก” นายวีระชัยกล่าว
ด้านนายวุฒิชัย คำดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมของการเลี้ยงโคนมในภาคเหนือว่า มีการเลี้ยงประมาณ 70,000 ตัว ในจำนวนนั้นเป็น “โครีด” หรือโคที่ให้น้ำนมประมาณ 30,000 ตัว โดยใช้อาหารหยาบเลี้ยงโคนมวันละ 1,000 ตัน และภาคเหนือผลิตน้ำนมโคได้วันละ 400 ตัน ขณะที่ทั้งประเทศผลิตได้วันละ 3,000 ตัน
นายวุฒิชัยกล่าวว่า สหกรณ์โคนมไชยปราการเป็นเขตเลี้ยงโคนมที่ให้คุณภาพน้ำนมดีที่สุดในประเทศไทย โดยพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400 เมตรขึ้นไปเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงโคนม แต่ปัญหาของเกษตรกรคืออาหารหยาบที่มีนั้นคุณภาพต่ำ ส่วนการหมักอาหารที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการเก็บรักษาอาหาร และไม่ได้เพิ่มโปรตีนต่างจากการใช้จุลินทรีย์ที่เป็นผลงานของนักวิจัยจาก ม.พะเยา ซึ่งหมักอาหารสัตว์แล้วได้โปรตีนเพิ่มขึ้น
ส่วน นายวิเชียร สันกาวี ประธานสหกรณ์โคนมไชยปราการ ผู้รับการทดลองใช้จุลินทรีย์หมักอาหารสัตว์ ระบุว่าเมื่อใช้จุลินทรีย์หมักอาหารสัตว์พบว่า โคนมกินอาหารหยาบจากเปลือกข้าวโพดมากขึ้น พร้อมทั้งย้ำถึงปัญหาการเลี้ยงโคนมในภาคเหนือว่า ขาดแคลนอาหารโปรตีนสูง จึงต้องเสริมอาหารโปรตีน เช่น ปลาป่น และกากถั่วเหลือง โดยในการผลิตน้ำนม 20 กิโลกรัมนั้น โคนม 1 ตัวต้องกินอาหารที่มีสัดส่วนโปรตีน 16% วันละ 35 กิโลกรัม ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งเป็นปีที่เปิดการค้าเสรีที่จะมีนมจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จะต้องลดต้นทุนการเลี้ยงโคนมและเพิ่มคุณภาพน้ำนมเพื่อแข่งขันกับนมจากต่างประเทศเทศ
นายวีระชัยให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัจจุบันบริษัทผลิตจุลินทรีย์สำหรับหมักอาหารสัตว์ 2 สูตร คือ สูตรสำหรับอาหารแป้ง เช่น มันสำปะหลัง และสูตรสำหรับอาหารเยื่อใย เช่น เปลือกข้าวโพด พร้อมทั้งกล่าวถึงความคาดหวังในการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์หมักอาหารสัตว์เพื่อลดการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อเก็บข้อมูลโดยผู้นำกลุ่มเกษตรกรในสหกรณ์โคนมไชยปราการว่า โครงการนี้จะสำเร็จได้คนเลี้ยงโคนมต้องได้กำไรสูงสุด

ที่มา : Manager online 12 กุมภาพันธ์ 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000015069]