ทำความรู้จักหลักสูตรแรกในไทยเปลี่ยนครัวเป็นแล็บ-เปลี่ยนเชฟเป็นนักวิทยาศาสตร์ จากความร่วมมือ สจล.-สวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ผสานศาสตร์และศิลปะการปรุงอาหาร ปฏิวัติวงการอาหารไทยและนานาชาติ สานต่อยุทธศาสตร์ “ครัวไทย-ครัวโลก”
หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร (นานาชาติ) เป็นหลักสูตรที่ปั้นเชฟนักวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร สจล. และสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม จากสวิตเซอร์แลนด์
หลักสูตรดังกล่าวตั้งเป้าผลิตเชฟนักวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการผสมผสานศาสตร์โภชนาการ ร่วมกับศิลปะการปรุงอาหารในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์กระแสของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและหลากหลายพร้อมเทคนิคการบริการทางอาหาร เพื่อต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารมืออาชีพ
การศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวศึกษาใช้ภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันตลอดหลักสูตร มีการฝึกปฏิบัติการครัวอย่างเข้มข้นแบบมีค่าตอบแทน 6 เดือน ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับ 3 ปริญญาคือวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศิลปะการปรุงอาหาร) จากสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรมประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Business and Hotel Management School-BHMS) และศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศิลปะการปรุงอาหาร) จากมหาวิทยาลัยโรเบิร์ตกอร์ดอน สหราชอาณาจักร โดยกำหนดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน ช่วงเดือนเมษายน 2562
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและภัตราคาร ให้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในปี 2562 สจล. โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร จึงได้ผสานความร่วมมือกับมหาวิยาลัยเครือข่ายในระดับนานาชาติ คือ สถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Business and Hotel Management School BHMS) เพื่อร่วมออกแบบหลักสูตรวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหารนานาชาติ หรือเชฟนักวิทยาศาสตร์
"หลักสูตรดังกล่าวเป็นการประยุกต์การศึกษาวิทยาศาสตร์อาหาร ร่วมกับศิลปะการปรุงอาหารในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพของผู้บริโภค ตลอดจนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ลงทุนกับผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพดี โดยการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ "ครัวไทย ครัวโลก" ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางอาหารและยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารไทยสู่สากล" ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว
ศ.ดร.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สจล. กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของวงการอาหาร ที่ผลิตเชฟมืออาชีพรุ่นใหม่ที่สามารถประยุกต์ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ศิลปะการปรุงอาหารทั้งอาหารไทยและนานาชาติ โดยนักศึกษาจะได้เรียนกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์การอาหารโภชนาการ เทคโนโลยีอาหาร และเชฟที่มีความชำนาญในศิลปะการประกอบอาหาร รวมถึงเรียนรู้เทคนิคในการบริการทางอาหาร ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารมืออาชีพ
"พร้อมทั้งเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจด้านอาหารได้ในห้องครัวมาตรฐานสากลและห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อาหารที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด หลักสูตรดังกล่าวนักศึกษาจะเรียนที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นเวลา 3 ปีเรียนที่สถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรมประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 1 ปี และจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงจำนวน 1, 000 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร"
นายแอนดริว ฮันส์โรว ผู้จัดการฝ่ายการตลาดสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรมประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า การเรียนการสอนในสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรมประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นระยะเวลา 1 ปี จะเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ โดยแบ่งเป็นการศึกษาศิลปะการปรุงอาหารตะวันตกขั้นสูง และการจัดการธุรกิจบริการอาหาร ระยะเวลา 6 เดือน และการฝึกปฏิบัติการครัวแบบมีค่าตอบแทน 6 เดือน ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติในโรงแรมและร้านอาหารพาร์ทเนอร์ชั้นนำของโลก เช่น ฮิลตัน เวิลด์ไวด์ (Hilton Worldwide) เดอะริทซ์-คาร์ลตัน (The Ritz-Carlton) แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล (Marriott International)
"นอกจากนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้การพัฒนาบุคคลิกภาพควบคู่กับการฝึกภาษาเยอรมันสำหรับการฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้ใช้ชีวิตในบริเวณแคมปัสของสถาบันที่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม" แอนดริวกล่าว
นางสาวแคทเทอรีน กาเบียร์ล ทอมป์สัน เซฟผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อสุขภาพ กล่าวว่าการประกอบอาหารในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้คน ความหลากหลายของกลุ่มประชากร และความต้องการของผู้บริโภค ทำให้อาชีพเซฟที่ทำหน้าที่ปรุงอาหารให้อร่อยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นจะมีทักษะในการบูรณาการทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประกอบอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลุ่มคนเมือง ที่มีเวลาน้อยสำหรับการเลือกมื้ออาหาร
"เชฟจำเป็นจะต้องมีทักษะในการปรุงอาหารที่เน้นความรวดเร็ว และมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคเพราะการเลือกรับประทานอาหารเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากลงทุนกับอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมการปรุงอาหารขึ้น ซึ่งในหลักสูตรดังกล่าวได้ออกแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อาหารโลก" แคทเทอรีนระบุ
ที่มา : Manager online 27 ก.พง62 [https://mgronline.com/science/detail/9620000019874]