เผยความคืบหน้า “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ณ อพวช.คลอง 5 ปทุมธานี แล้วเสร็จไปกว่า 90% เตรียมดันขึ้นเป็นศูนย์กลางพิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งอาเซียน พร้อมสืบทอดหลักคิด หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.๙ เปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ มิ.ย.นี้ และเปิดเต็มรูปแบบปลายปี 2562
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เผยความคืบหน้า โครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ 5 ธันวาคม 2550 ว่า คืบหน้าไปมากกว่า 90% แล้ว
“ในเดือนมิถุนายน 2562 จะเปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทดสอบระบบการให้บริการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2562 นี้ เชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะเป็นสถานที่เรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม” ดร.พิเชฐระบุ
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่จัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.บ้านของเรา (Our Home) นำเสนอการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะจักรวาลและโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจนถึงกำเนิดมนุษย์ 2. ชีวิตของเรา (Our Life) นำเสนอสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับระบบนิเวศ และ 3.พระราชาของเรา (Our King) เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัฐกาลที่ ๙
“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ด้วยมีเนื้อที่กว่า 47,400 ตารางเมตร ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะดำเนินการผลักดันยกระดับให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า กลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพราะเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการร้อยเรียงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสมดุลของชีวิตบนโลก” ดร.พิเชฐระบุ
ทางด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช.เผยถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ว่า อพวช.กำลังเจรจากับจังหวัดปทุมธานี เพื่อเตรียมแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไว้รองรับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โดยในระยะแรกจะพัฒนาปรับปรุงเส้นทาง รวมทั้งการเข้ามาร่วมให้บริการจาก ขสมก. ส่วนในระยะยาวจะได้หารือกับ สนข.เพื่อพัฒนาระบบรางสายรอง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักต่อไป
ที่มา : Manager online 19 มีนาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000027238]