“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ทุ่ม 1,768 ล้านบาท เยียวยาผลกระทบโควิด - 19 ให้ทุนช่วยนักศึกษาที่กำลังเรียน 50,000 คน ป้องกันไม่ให้ต้องออกจากระบบการเรียน
จบไปแล้ว 6,000 ทุน ให้เรียนต่อปริญญาโทและตรี ในสาขาที่จำเป็นต่อประเทศ ทั้ง วิทยาศาสตร์การแพทย์ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ รวมทั้งคนตกงาน อีก 7 หมื่นคน เปิดหลักสูตรพิเศษพัฒนาทักษะเดิมและสร้างอาชีพใหม่ อบรม 10 วันแถมเงินให้วันละ 200 บาท
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด - 19 ได้ส่งผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คาดว่ากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนิสิตนักศึกษา ที่ลงทะเบียนเรียน หรือ ประมาณกว่า 500,000 คน จะได้รับผลกระทบตลอดจน นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และ ยังไม่มีงานทำ ดังนั้น อว.ได้เตรียมมาตรการการเยียวยาให้กับนิสิตนักศึกษาตลอดจน นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และ ยังไม่มีงานทำ โดยใช้งบประมาณ จำนวน 1,768 ล้านบาท ซึ่งเกลี่ยมาจาก หน่วยงานภายใน อว.เอง ดำเนินการผ่าน 4 โครงการ
ประกอบด้วย 1.ทุนการศึกษา สำหรับนักศึกษา ที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จำนวน 50,000 คน งบประมาณ 600 ล้านบาท 2.ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วและยังไม่มีงานทำ ให้ไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาที่จำเป็นต่อประเทศจำนวน 1,000 ทุน งบประมาณ 300 ล้านบาท 3. ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและยังไม่มีงานทำ ให้เรียนต่อเพิ่มเติมระดับปริญญาตรีในสาขาอื่น ที่จำเป็นต่อ ประเทศ เรียนเพิ่ม 1-2 ปี จำนวน 5,000 ทุน งบประมาณ 350 ล้านบาท และ 4.การพัฒนาทักษะผู้ว่างงานจากผลกระทบโควิด - 19 ระยะสั้น จำนวน 70,000 คน งบประมาณ 518 ล้านบาท
รมว.อว.กล่าวต่อว่า โครงการแรก เป็นการจัดสรรทุนการศึกษาเฉพาะหน้า สำหรับภาคการศึกษาหน้า เพื่อเป็นค่าลงทะเบียน ค่าใช้จ่ายในการเรียนออนไลน์ และค่าใช้จ่ายอื่น ทุนละ 12,000 บาทแก่นักศึกษาประมาณ 50,000 คน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้ นักศึกษา ออกจากระบบการเรียน ขณะที่โครงการที่สองและสาม นักศึกษาที่จบการศึกษาในช่วงนี้ตกงานจำนวนมาก ดังนั้น จะให้นักศึกษาได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่จำเป็น มีใน 2 ระดับ คือระดับปริญญาโท ในสาขาที่สำคัญที่ยังขาดแคลน เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น โดยจะให้ทุนประมาณ 1,000 ทุน และ ให้เรียนในระยะสั้น เช่น 1หรือ 2 ปี ในหลักสูตรปริญญาตรี หรือ non degree ในสาขา เช่น เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจสร้างสรรค การเขียนโปรแกรม การตลาดยุคดิจิทัล ก็สามารถได้รับทุน โดยในส่วนนี้คาดว่าจะสนับสนุนทุนกว่า 5,000 ทุน
ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ คนตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ จากการปิดกิจการ การเลิกจ้างงาน ลดเงินเดือน เป็นต้น ตนจึงมีนโยบายให้ 80 มหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ฯลฯ จัดอบรมหลักสูตรพิเศษในการพัฒนาทักษะเดิมและสร้างอาชีพใหม่ ได้แก่ การพัฒนาด้านภาษา การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในทุกภาคส่วน และทักษะที่เป็นเทคโนโลยียุคใหม่ เริ่มดำเนินการได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น มัคคุเทศก์ พนักงาน โรงแรม เป็นต้น ประกอบด้วย หลักสูตรการพัฒนาภาษาต่างประเทศ เพื่อการทำธุรกิจ, การจัดการท่องเที่ยวชุมชน ,การใช้สื่อดิจิตัลเพื่อการท่องเที่ยว ,เทคนิคการเล่าเรื่องสู่การสร้างสังคมออนไลน์เชื่อมโยงการท่องเที่ยว และ 2.แรงงานที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมและประชาชนทั่วไป มีการอบรม 2 ด้าน แบ่งเป็น กลุ่มหลักสูตรส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ หลักสูตรการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย, การเป็นผู้ค้าในอี-คอมเมิร์ซ, การพัฒนาเกมส์และ แอปพลิเคชัน, การออกแบบกราฟิกดีไซน์เพื่อธุรกิจ เป็นต้น และ กลุ่มหลักสูตรส่งเสริมการประกอบอาชีพใหม่ ได้แก่ หลักสูตรการทำธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ ของที่ระลึก, การทำอาหารต่างประเทศ และอาหารสุขภาพ, การทำฟาร์มแมลง, การแปรรูปสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร
“แต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาอบรมหลักสูตรละ 10 วันต่อเนื่อง จำนวน 700 รุ่น รุ่นละ 100 คน รวมได้รับการฝึกอบรม 70,000 คน กระจายทั่วประเทศ เริ่มเรียนตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไป โดย มีหน่วยฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัย 80 แห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นผู้ดำเนินการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับเงินสนับสนุนการเรียนวันละ 200 บาท รวม 2,000 บาทต่อคนอีกด้วย” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ที่มา : Manager online 21 เมษายน 2563 [https://mgronline.com/science/detail/9630000041570]