กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนการจัดการขยะพลังงานอย่างเป็นระบบ ดันแนวคิด ตั้งโรงงานซ่อมแซมแผงเพื่อรียูสและรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นโรงงานลําดับที่ 106 (โรงงานประเภทกากอุตสาหกรรม) รับมือซากโซลาร์เซลล์ที่จะคาดว่าทยอยหมดอายุการใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า คิดเป็นซากแผงโซลาร์เซลล์สะสม สูงถึง 6.2-7.9 แสนตัน
เมื่อเร็วๆ นี้ พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการมายังสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายให้หาแนวทางที่จะลดปัญหามลพิษก่อนกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ มาตั้งแต่ปี 2545 และจะหมดอายุการใช้งานใน 20 ปีหลังการติดตั้งใช้งาน (คาดว่าจะทยอยหมดอายุในปี 2565-2601) เป็นซากแผงโซลาร์เซลล์สะสม สูงถึง 6.2 -7.9 แสนตัน
สุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าในเชิงคุณภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังคงผลิตไฟฟ้าได้อยู่เพียงแต่จะมีประสิทธิภาพลดลง อีกนัยหนึ่งคือหมดอายุในการสร้างความคุ้มค่าทางการเงิน แต่ยังคงสร้างความคุ้มค่าด้านพลังงานได้ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผงที่ยังใช้ได้ และสนับสนุนการตั้งโรงงาน รีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซม เป็นโรงงานลำดับที่ 106 (ประกอบกิจการ เกี่ยวกับการนําผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือ ของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมกากอุตสาหกรรม)
โดยจะกำหนดแนวทาง การดำเนินงานไว้ 3 แนวทาง คือ
1.การรับคืนแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ
2.การเปิดโรงงานรียูสซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์
และ 3.การรับซากแผงโซลาร์เซลล์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล
"พร้อมมีแนวคิดให้มีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์และโรงงานรีไซเคิล ซากแผงโซลาร์เซลล์ โดยมีเป้าหมาย ที่จะจัดตั้งโรงงานใน 10 จังหวัดปริมณฑลและตามหัวเมืองในแต่ละภูมิภาค จังหวัดละ 10 แห่งในช่วงแรกคาดว่าจะมีโรงงานทั้ง 2 ประเภทรวมกันประมาณ 100 แห่ง และจะทยอยอนุญาตให้จัดตั้งในแต่ละจังหวัดต่อไป “อย่างน้อย ต้องมีโรงงานประเภทดังกล่าวจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อรองรับการซ่อมแซมและรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปัญหาการกำจัดซากแผงโซล่าเซลล์ที่จะเกิดขึ้นได้ถึง 90% คิดเป็น 5.6 - 7.1 แสนตัน”
เรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและควบคุมกำกับดูแล ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย จะได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้และหาแนวทางในการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างยั่งยืนต่อไป
รองปลัด ก.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่าหลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแผงเซลล์แสงอาทิตย์แล้วจะกำจัดอย่างไร ซึ่งตามหลักการปฏิบัติงาน (Code of Practice หรือ CoP) ด้านการออกแบบติดตั้งและการจัดการขยะและกากของเสียสำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตโวลเท มีแนวทางดำเนินการ 2 กรณี คือ การส่งออกไปจัดการนอกประเทศ หรือการจัดการภายในประเทศด้วยการฝังกลบในหลุมฝังกลบของเสียอันตราย(Secure Land Fill) หรือเผาทําลายด้วยเตาเผาเฉพาะของเสียอันตราย หรือจัดการโดยวิธีอื่นโดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้จะครบอายุโครงการ (20 ปี หลังการติดตั้งใช้งาน) แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังคงผลิตไฟฟ้าได้อยู่ แต่มีประสิทธิภาพที่ลดลง
“ปัจจุบันมีการนำเสนอแนวทางการจัดการ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เสียหาย(บางส่วน) หรือหมดอายุการใช้งาน (ในทางธุรกิจ) ด้วยวิธีการซ่อมบำรุงที่ถูกวิธี เช่นวิธีการเปลี่ยนอุปกรณ์เดิมบางตัวเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่เช่นเปลี่ยนไดโอด (Diode) หรืออุปกรณ์สายไฟต่างๆในระบบ ก็จะช่วยต่ออายุให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังใช้งานได้โดยการนำกลับมารียูสได้มีอายุการใช้งานอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี สำหรับแผงที่แตกหักใช้ไม่ได้ก็จะนำมาเข้าวิธี Delamination คือนำแผงวงจรที่ผลิตจากแร่ควอทซ์และส่วนประกอบอื่นๆมาทำเป็นสินค้าตัวใหม่ในรูปของกระจกด้านทึบเพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างต่อไป”
ที่มา : Manager online 9 เมษายน 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000034986]