ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เน้นว่า การวิจัยนี้ไม่ได้เป็นการฟื้นฟูความสามารถในการรับรู้ในสมองของหมูที่นำออกมาจากหมูที่ตายเเล้วเเต่อย่างใด เเต่เป็นการทดลองที่ออกเเบบเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการฟื้นฟูดังกล่าวซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

การศึกษานี้ได้ก่อให้เกิดคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งคำถามหลายคำถามเกี่ยวกับคำจำกัดความของอาการสมองตาย เเละผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาต่อขั้นตอนการปฏิบัติในการบริจาคอวัยวะ
มหาวิทยาลัยเยลชี้ว่า ความมุ่งหมายหลักของการวิจัยคือการสร้างความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะเอื้อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาวิเคราะห์สมองทั้งก้อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เเทนที่จะศึกษาสมองโดยจำกัดอยู่เเค่เฉพาะตัวอย่างปริมาณเล็กน้อยของเนื้อเยื่อสมองเท่านั้น
การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพเเห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) และผลการทดลองที่ได้ซึ่งจะตีพิมพ์ในวารสาร Nature ตรงข้ามกับแนวคิดเดิมที่ยอมรับกันมานานเกี่ยวกับอาการสมองตาย โดยถือว่าอาการสมองตายคือการที่กิจกรรมของเซลล์ในสมองยุติลงโดยไม่สามารถฟื้นคืนได้ภายในไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาทีหลังจากสมองขาดอ็อกซิเจนหรือขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
การทดลองนี้ชี้ถึงการฟื้นคืนอย่างจำกัดของการทำงานในเซลล์สมองของหมู โดยสมองของหมูนี้ได้มาจากโรงฆ่าสัตว์เเห่งหนึ่ง ทีมงานได้ฉีดส่วนผสมพิเศษของสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาสภาพของเซลล์เข้าไปในสมองของหมู เเละพบว่าเซลล์สมองของหมูยังทำงานอยู่ได้อีก 4 ชั่วโมงหลังจากที่หมูเสียชีวิตไปแล้ว
Nenad Sestan หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า สมองที่สมบูรณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่รักษาความสามารถในการฟื้นคืนกิจกรรมในโมเลกุลเเละเซลล์ของสมองได้ในช่วงหลายชั่วโมงหลังจากหยุดทำงานไปเเล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่วงการแพทย์ไม่คาดคิดกันมาก่อน
และที่ห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยเยล ทีมนักวิจัยได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า BrainEx เพื่อใช้ในการฉีดสารอาหารเทียมเข้าไปในระบบหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองของหมู
Zvonimir Vrselja ผู้ช่วยนักวิจัยด้านประสาทสมอง กล่าวว่า สมองของหมูที่ใช้ในการศึกษาไม่ถือว่าเป็นสมองที่มีชีวิต เเต่เป็นสมองที่ยังมีกิจกรรมในเซลล์อยู่เท่านั้น
ขณะที่ผลการศึกษานี้ไม่เสนอวิธีบำบัดสมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในตอนนี้ เเต่ผลการทดลองก็ได้นำไปสู่เเนวทางการวิจัยเเบบใหม่ ที่ในที่สุดอาจช่วยให้แพทย์ค้นพบวิธีฟื้นคืนการทำงานของสมองของคนที่ล้มป่วยจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบตันเเละแตก หรือเพื่อทดสอบวิธีการบำบัดใหม่ๆ ที่ใช้รักษาเซลล์สมองที่เสียหายจากอาการบาดเจ็บ
เเต่ในขณะเดียวกัน การทดลองนี้อาจก่อให้เกิดความไม่เเน่ใจรอบใหม่เกี่ยวกับการตัดสินว่าอะไรคือความตาย ซึ่งในขณะนี้จะถือเอาว่าคนเสียชีวิตหากการทำงานทุกอย่างของสมองยุติลงเเละกอบกู้คืนไม่ได้
ซึ่งคำจำกัดความนี้มีผลให้เเพทย์ตัดสินใจตามจรรยาบรรณว่า เมื่อไหร่จึงจะเริ่มยุติการรักษาชีวิตของผู้ป่วย เเล้วหันไปรักษาอวัยวะของผู้ป่วยเเทน

ที่มา : Voice of America 22 เมษายน 2562 [https://www.voathai.com/a/pig-brain-cells-tk/4885677.html]