ม.รังสิต ลงทุนมากกว่า 40 ล้านบาท วิจัย “กัญชา” ล่าสุดพบสารซีบีเอ็น-ทีเอชซี ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดในมนุษย์ในระดับหนูทดลอง เตรียมร่วม 3 รพ.วิจัยในคนต่อ พร้อมพัฒนานวัตกรรมยาเม็ดเวเฟอร์กัญชา แตกตัวในปาก ดูดซึมได้ดี ยาสเปรย์พ่นช่องปากช่วยนอนหลับดีขึ้น และวิจัยตำรับยาประสะกัญชา ต่อยอดภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

วันนี้ (23 เม.ย) เมื่อเวลา 11.30 น. ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวผลงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา จำนวน 4 นวัตกรรม ว่า ม.รังสิตเริ่มคิดนอกกรอบด้วยการวิจัยกัญชามาตั้งแต่ 3 ปีก่อน ตั้งแต่คนยังมองไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์ และยังไม่รู้ว่าจะปลดล็อกมาใช้างการแพทย์ได้หรือไม่ เรามีนักวิจัยที่มีคุณภาพเกือบ 40 คน โดยเป็นดอกเตอร์กว่า 30 คน เพราะเราถือว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่สอนเด็กอย่างเดียว แต่ต้องค้นคว้าวิจัยสิ่งที่จะเป็นความรุ่งเรืองของประเทศด้วย ทั้งนี้ นอกจากนักวิจัยที่เก่ง ต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่ใช่แค่หม้อต้มหม้อเคี่ยว แต่เราลงทุนทั้งหมดเกือบ 40 ล้านบาท และความก้าวหน้างานวิจัยก็มาถึงขั้นที่สกัดสารที่เราไม่เคยมีมาก่อน และสามารถผลิตยาได้หลายตำรับและอนาคตก็จะผลิตอีกหลายตำรับ รวมถึงพัฒนาทางการแพทย์แผนไทยให้ดีมีคุณภาพขึ้น
“เราวิจัยถึงขนาดว่าเป็นข่าวดีที่สุดในโลก เพราะว่ายาของเราจะรักษามะเร็งได้ เพราะทดลองในหนูทดลองแล้ว โดยการฉีดสารมะเร็งในหนู และฉีดยากัญชาเข้าไปรักษามะเร็งหายแล้วในเชิงประจักษ์ ซึ่งมะเร็งถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุด อย่างไรก็ตาม จะต้องพัฒนาต่อไปถึงในคน ซึ่งก็มีความพร้อมในการวิจัยในคนได้แล้ว โดยเรามีคณะแพทยศาสตร์ และมีโรงพยาบาลในเครือของเรา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานติดต่อทั้ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี ที่จะทดลองยากัญชารักษามะเร็งได้ ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่ง” ดร.อาทิตย์ กล่าวและว่า เรื่องกัญชาทางการแพทย์ อยากให้รัฐบาล สนช. และข้าราชการที่มีอำนาจ ทำอะไรเพื่อประชาชนคนไทย อย่ามาทำเพื่อผูกขาดผลประโยชน์เฉพาะตัวหรือเอื้อนายทุน เราต้องการการปฏิวัติเรื่องนี้ทุกด้าน
ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ม.รังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดมนุษย์ของสารจากกัญชาในหนูทดลอง กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและการไม่ตอบสนองต่อการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทีมวิจัยสามารถแยกสารบริสุทธิ์ของกัญชาออกมาได้ ทั้งทีเอชซี ซีบีดี และซีบีเอ็น ซึ่งซีบีเอ็นเกิดจากการเสื่อมสลายของทีเอชซีจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน โครงการวิจัยจึงนำสารทั้ง 3 ชนิดมาทดสอบ โดยเริ่มจากทดลองเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหลอดทดลอง พบว่า สารซีบีดีทำให้ลักษณะของเซลล์มะเร็งเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่จำนวนลดลง แต่สารทีเอชซี และซีบีเอ็น ทำให้เซลล์มะเร็งตาย ถือว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ในระดับหนึ่ง
ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์กล่าวว่า จากนั้นจึงใช้สาร 3 ชนิดที่มีความเข้มข้นต่างๆ และวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็ง โดยพบว่า ความเข้มข้นสูงสุดของสารทีเอชซี และซีบีเอ็น เซลล์มะเร็งรอดเพียง 20-30% คือ เซลล์ส่วนใหญ่ตาย ส่วนสารซีบีดี อัตรารอดชีวิตเซลล์มะเร็งสูง 75% เรียกว่าเซลล์ยังรอดเยอะ ไม่ค่อยเป็นพิษต่อเซลล์ ดังนั้น จึงนำเฉพาะสารทีเอชซี และซีบีเอ็นไปศึกษาต่อในหนูทดลอง โดยปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหนูทดลอง เลี้ยงหนู 2-3 สัปดาห์ จึงก้อนเกิดขึ้นในตัวหนู ซึ่งตรวจยืนยันแล้วว่า เป็นมะเร็งจริง และแบ่งหนูที่ฉีดมะเร็งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม ให้รับน้ำเกลือ กลุ่มรับทีเอชซี และกลุ่มรับซีบีเอ็น โโยฉีดให้ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์
“ผลวิจัยพบว่า ช่วงสัปดาห์แรกขนาดก้อนมะเร็งแต่ละกลุ่มไม่ต่างกันมากนัก แต่ช่วงสัปดาห์ที่สอง กลุ่มที่ไม่ได้รับสาร ก้อนมะเร็งโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มรับทีเอชซีและซีบีเอ็นก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง โดยผลไม่ต่างกันมากระหว่างสารทีเอชซี 3 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับ ซีบีเอ็น 8 มิลลิกรัม ทั้งนี้ กัญชาที่วิจัยเราได้รับมาจากของกลางของ ป.ป.ส. เรียกว่า การวิจัยนี้สารทีเอชซี และซีบีเอ็น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้” ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ กล่าว
ภก.เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัยยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่า สารสำคัญของกัญชาสามารถด฿ดซึมทางช่องปากโดยไม่ต้องรับประทาน จะเห็นว่าน้ำมันกัญชาที่ใช้ในใต้ดินก็เป็นแบบใช้หยดใต้ลิ้น จึงต้องการพัฒนายาเม็ดที่ส่งสารสำคัญทางเยื่อบุช่องปากได้ แต่สิ่งสำคัญคือยาจะต้องแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงจะดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็ว ดังนั้น การพัฒนายาจึงนึกถึงขนมเวเฟอร์ที่เป็นชั้นๆ และหักง่าย จึงพัฒนายาเม็ดให้มีความเปราะ มีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ จึงดูดซึมน้ำได้เร็ว ยาแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีของยาเม็ดเวเฟอร์ใช้ช่องปาก คือ ไม่ต้องรับประทานน้ำแล้วกลืน ช่วยให้คนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด เยื่อบุช่องปากอักเสบกลืนยาได้ยาก สามารถรับยาได้สะดวกขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
ผศ.ดร.ภญ.สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระดับสากล กล่าวว่า การควบคุมมาตรฐานน้ำมันกัญชา ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทย กัญชายังเป็นสารเสพติดประเภท 5 ผู้ป่วยมีการลักลอบซื้อหรือใช้น้ำมันกัญชา ส่งผลให้น้ำมันกัญชามีราคาแพง ส่วนใหญ่ที่ใช้ไม่มีการผ่านมาตรฐาน ทีมผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด คือ ทีเอชซี ซีบีดี และซีบีเอ็น ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และได้ทำการศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาคือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม
ภญ.อภิรดา สุคนพันธ์ ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก กล่าวว่า ช่วงนอนหลับร่างกายจะฟื้นฟูซ่อมแซมเยียวยารักษาตัวเอง แต่หากร่างกายเครียดวิตกกัวล นอนไม่หลับ นอนไม่มีคุณภาพ ระบบต่างๆ ร่างกายผิดปกติ ก็เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เมื่อใช้ยาก็อาจยิ่งส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยวิตกกังวล เครียดมากขึ้น ส่งผลการนอนหลับแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ สารซีบีเอ็นและทีเอชซีมีฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น จึงวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสารซีบีเอ็นและทีเอชซีร่วมกันในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก เพื่อสะดวกในการใช้งาน ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าเยื่อบุช่องปากทันที ไม่ถูกทำลายระหว่างทางเดินอาหารและตับ ออกฤทธิ์ได้เร็วมีประสิทธิภาพกว่ารับประทาน โดยอาศัยเทคโนโลยีจัดเก็บสาร “ลิโปโซม” ซึ่งเป็นอนุภาคในการกักเก็บสารสำคัญที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำให้อยู่ในอนุภาคเดียวกัน ซึ่งช่วยเพิ่มความคงตัวการดูดซึมออกฤทธิ์นานขึ้น เนื่องจากทั้งสองสารไม่ละลายน้ำ แต่ต้องทำตำรับยาที่อยู่ในรูปแบบน้ำ
ภก.ณฐวรรธ์ จันคณา ผู้วิจัยตำรับยาไทยประสะกัญชา กล่าวว่า กัญชาใช้รักษาโรคมานาน มีหลักฐานในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งตำรับยาเข้ากัญชาที่เราวิจัย อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้จัดพิมพ์ซึ่งบอกสรรพคุณกัญชาว่า แก้ไข้ผอมเหลือง ลมตี นอนไม่หลับได้สาเหตุที่เรียกว่า “ประสะกัญชา” เพราะปริมาณเครื่องยากัญชาที่เข้าในตำรับมีปริมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมดในตำรับ โดยส่วนประกอบของตำรับยาประสะกัญชา มีดังนี้ ตรีกฏุก (พริกไทย ดีปลี เหง้าขิงแห้ง) จันทน์ทั้ง 2 (แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน และใบกัญชา ซึ่งยารองตัวอื่นจะทำหน้าที่ทั้งเสริมฤทธิ์และและลดความเป็นพิษของกัญชา ทั้งนี้ การวิจัยก็เพื่อสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยให้เป้นที่ยอมรับและเชื่อถือของแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาและผู้ป่วยที่รับยา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันการแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า เมื่อรู้ว่าสารสำคัญแต่ละชนิดออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน เช่น ทีเอชซีทำให้เมา มีผลต่อมะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลอง, ซีบีเอ็น มีผลยับยั้งมะเร็งปอดได้ดีกว่าหรือทัดเทียมทีเอชซี, ซีบีดีไม่ก่อให้เกิดฤทธิ์ทางจิตประสาท ทั้งหมดจะถูกแยกแยะเป็นหลายผลิตภัณฑ์ตามแต่ละวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ใช้เหมือนน้ำมันกัญชาโดยทั่วไป แปลว่าต่อไปผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกออกแบบแต่ละบุคคล ไม่เหมือนกัน แม้จะมาจากต้นกัญชา ซึ่งการปลูกกัญชาของ ม.รังสิต จะอาศัยงานวิจัยไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญไม่เท่ากันตามการออกแบบของโรคที่เราต้องการการรักษา และไม่ต้องซื้อสิทธิบัตรต่างชาติ และนำไปสู่เกษตรกรที่จะปลูกอย่างมีองค์ความรู้ ปลูกได้ตามการรักษาที่เราต้องการ ซึ่งจะสร้างความมั่งคั่งได้ และเมื่อเราได้พันธุ์พืชใหม่ ก็จะนำไปสู่รสยาใหม่ เป็นตำรายาของชาติในรัชกาลที่ ๑๐ ครั้งแรก หลังจากที่ไทยเคยมีตำรายาเวชศาสตร์ตำรับหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕

ที่มา : Manager online 23 เมษายน 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000039349]