ปัจจุบันผู้ป่วยเริ่มหันมาใช้น้ำมันกัญชากันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ที่เริ่มหันมาสนใจการรักษาด้วยวิธีการนี้ ในขณะที่การผลิตน้ำมันกัญชาในบ้านเรานั้นมีหลายสูตรแล้วแต่สูตรใครสูตรมัน จึงมีคำถามตามมาว่าเราใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคกันอย่างไร ใช้แบบไหน แต่ละสูตร แต่ละคนใช้เท่ากันหรือไม่ เราไปหาคำตอบได้จากรายงาน คุณชุตินันท์ เพชรากานต์
หลังจากที่กระแสกัญชารักษาโรคเริ่มขยายวงกว้างออกไปสู่ผู้ป่วยมากขึ้น จนเกิดแรงกระเพื่อมเรียกร้องให้มีการปลดล็อคกัญชาเสรี และขณะเดียวกันชุดข้อมูลที่ระบุว่าน้ำมันกัญชาสามารถรักษาโรคร้ายต่างๆได้ ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สังคมพร้อมๆกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำมันกัญชาเป็นความหวังและแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้ป่วยโรคร้ายเหล่านี้
ทว่าน้ำมันกัญชาที่ถูกผลิตออกมาขวดแล้วขวดเล่า ต่างคนต่างคิดสูตรของตัวเองขึ้นมา บ้างก็ว่าดีบ้างก็ว่าแน่ ใช้เพียงหยดสองหยดช่วยรักษาให้หายหรือช่วยบรรเทาจากโรคร้ายได้ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้ววิธีการใช้น้ำมันกัญชาที่ถูกต้องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยมีวิธีการอย่างไร ทั้งเรื่องปริมาณหรือขนาดต้องใช้เท่าไรถึงจะเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายว่า น้ำมันกัญชาที่ประชาชนใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คือเป็นการสกัดเองตามบ้าน ทำให้มีลักษณะความเข้มข้นแตกต่างกัน และอีกหนึ่งปัญหาก็คือ การบีบซึ่งแต่ละคนบีบน้ำมัน 1 หยดในปริมาณที่ไม่เท่ากัน
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยกรณีผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้น้ำมันกัญชามาก่อน ควรเริ่มใช้ในปริมาณน้อยที่สุด คือ ใช้ไม้จิ้มฟันจุ่มลงไปในน้ำมันกัญชาแล้วมาแตะที่ซอกฟัน ก็เปรียบเสมือนเราหยอดไปครึ่งหยด แต่ต้องเริ่มหยอดในช่วงเวลาก่อนนอน เพราะน้ำมันกัญชาจะไม่ออกฤอธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์หลังจากการหยอดประมาณ1-3 ชั่วโมง
ขณะที่ หัวหน้าสำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อม ของกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก บอกว่า การที่ประชาชนบางส่วนมีความต้องการใช้สารสกัด หรือ น้ำมันกัญชา และดำเนินการสกัดเองต้องระวัง เพราะอาจได้รับอันตรายได้ โดยการสกัดน้ำมันกัญชา มีด้วยกัน 28 กรรมวิธี ตามหลักแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็นสกัดแบบน้ำโดยการต้ม การบีบคั้น การใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือการดอง เหมือนกับยาดองเหล้า
อีกทั้งหากใช้กระบวนการทางเภสัชวิทยาก็มีอีกหลายวิธี และได้สารสำคัญตามความต้องการ เช่นการปรุงยาสนั่นไตรภพ ที่เป็น 1 ใน 4 ของตำรายาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกัญชา ช่วยลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับระยะเริ่มต้น และช่วยแก้กษัยเหล็ก หรืออาการท้องแข็งซึ่งส่วนหนึ่งก็คือโรคมะเร็งนั่นเอง
ปฎิเสธไม่ได้ว่า การใช้น้ำมันกัญชาทางแพทย์มีทั้งคุณและโทษซึ่งประชาชนที่ต้องการจะใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธี เริ่มใช้ตั้งแต่ปริมาณที่น้อยๆก่อน เพื่อรอสังเกตอาการของตนเองว่ามีการตอบสนองเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ใช้น้ำมันกัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง
ที่มา : Bangkokbiznews 13 พฤษภาคม 2562 [http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/834903]