เมื่อเร็วๆ นี้ สาวน้อยนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม 'เกรตา ธันเบิร์ก' (Greta Thunberg )ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ และได้รับคัดเลือกให้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ (Time Magazine) พร้อมบทความ Next Generation Leaders: The Teenager on Strike for the Planet
“Now I Am Speaking to the Whole World.” - Greta Thunberg
อย่างที่เกรตาเคยกล่าวไว้ "You are never too small to make a difference" ไม่มีใครไม่สำคัญในการลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ถึงตอนนี้สาวน้อยนักกิจกรรมอายุ 16 ปีจากสวีเดนกลายเป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของโลกและคนรุ่นต่อไป
ในขณะที่ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์แตะผ่านระดับ 415 ppm สูงที่สุดในรอบ 3 ล้านปี ผู้นำโลกส่วนใหญ่ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และปล่อยให้หายนะคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ
“สิ่งที่เราทำ 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติไปอีกเป็น 10,000 ปี” คำพูดดังกล่าวไม่ได้พูดเก๋ๆ แต่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาในตอนนี้อาจจะสายไปมากแล้ว แต่ยังไม่สายเกินไป
เอาจริงๆ เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์โลกที่สำคัญมากๆ เราเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ยังมีโอกาสแก้ปัญหานี้ และนี่คือสิ่งที่เกรตา และเยาวชนทั่วโลกเรียกร้อง การนิ่งดูดายของผู้ใหญ่ในวันนี้ คือการขโมยอนาคตของเด็กๆ ในวันข้างหน้า
อีก 20-30 ปีจากนี้ แม้เด็กๆที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อยากทำอะไรมากแค่ไหน ก็อาจไม่มีวันทำได้อีกแล้ว เพราะมันสายเกินไปเมื่อโลกได้ผ่านจุดเปลี่ยน (tipping point) จนเกินเยียวยา
ในรายงานล่าสุดของ UN ที่เตือนถึงวิกฤติการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดจากมนุษย์ ระบุว่า "กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากมายจากระบบเดิมๆ ย่อมขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทุกวิถีทาง แต่เราต้องเอาชนะให้ได้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่"
เกรตา เป็นหนึ่งในความหวังว่า สุดท้ายแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์จะสามารถเอาชนะด้านมืดของตัวเองได้ เพราะเราทุกคนล้วนต้องการความหวัง แต่ความหวังจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราไม่ลงมือทำ
จากเด็กออทิสติกที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่
สู่ไอคอนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมให้โลกถูกทำลาย
พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา...พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็กๆ ทั้งหลาย” - เกรตา ธุนเบรก์ (ออกเสียงแบบสวีดิช)
ถึงนาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักสาวน้อย Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปี ชาวสวีเดน ผู้กล่าวสุนทรพจน์เตือนสติบรรดาผู้นำประเทศและนักการเมืองระดับสูงในงานประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) ที่โปแลนด์ได้อย่างตรงใจคนทั้งโลก
ใครจะรู้ว่า 4 ปีก่อนหน้านี้ เธออ่านข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนจนเกิดอาการซึมเศร้า ล้มป่วย ไม่พูดกับใคร ไม่กินอาหาร น้ำหนักตัวลดไป 10 กิโลกรัมภายในสองเดือน และต่อมาได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และภาวะไม่พูดในบางสถานการณ์ (Selective mutism) ซึ่งรวมๆแล้วเป็นอาการออทิสติกอย่างหนึ่ง
“หนูสามารถทำอะไรซ้ำๆได้นานหลายๆชั่วโมง และจะพูดเมื่อคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นจริงๆเท่านั้น” เกรตาอธิบาย
เธอหยุดเรียนไปถึงหนึ่งปี แต่โชคดีที่ได้พ่อและแม่ที่ใส่ใจ และรับฟัง ทั้งบ้านจึงเปลี่ยนมาใช้ชีวิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด เธอหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ซื้อสิ่งของอะไรใหม่เลยยกเว้นจำเป็นจริงๆ หยุดเดินทางด้วยเครื่องบิน ติดตั้งแผงโซลาเซลล์และหันมาปลูกผักกินเอง
เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุคลื่นความร้อนและไฟป่าครั้งใหญ่ในสวีเดน เธอตัดสินใจไปประท้วงรัฐบาลหน้าอาคารรัฐสภาให้ทำตามข้อตกลงปารีส ที่กำหนดให้ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสวีเดนต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยปีละ 15% และนำไปสู่การประท้วงโดยเด็กนักเรียนในหลายประเทศทั่วโลก
เธอบอกว่าคนที่มีอาการออทิสติกมักจะมองโลกแบบขาวดำ “เราโกหกไม่เป็น เล่นเกมไม่เป็น จริงๆแล้วหนูคิดว่าพวกออทิสติกนี่แหละเป็นปกติ คนอื่นๆสิแปลก โดยเฉพาะในเรื่องวิกฤติด้านความยั่งยืน เพราะในขณะที่เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของโลก คนส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติ หนูไม่เข้าใจจริงๆ"
"ถ้าการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนคือการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วทำไมเราไม่ทำ ทำไมเราจึงยังไม่มีกฎหมายควบคุม สำหรับหนูนี่คือเรื่องขาวดำ ไม่ใช่สีเทา เราต้องเปลี่ยนแปลง”
“เรามักจะพูดถึงทางออกต่างๆด้วยความหวัง พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน แต่เราพูดกันมา 30 ปีแล้ว แต่ก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันไม่สำเร็จ...แน่นอนว่าเราต้องการความหวัง แต่ความหวังจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการลงมือทำ”
ที่มา : Manager online 23 พฤษภาคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000049211]