สวทช. จับมือ เน็ตเบย์ และเครือข่ายการแพทย์ พัฒนา “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19” เพื่อจับคู่เชื่อมโยงความต้องการส่งมอบให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด–19 (Medical Devices Demand-Supply Matching for COVID-19)” แพลตฟอร์มเพื่อการบริจาค การจับคู่ ความต้องการและการบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตโควิด–19 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมี ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คุณพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมงานแถลงข่าว
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน สำหรับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว เพื่อการรับมือกับโรคระบาดนี้ จึงต้องมีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมาใช้ภายในประเทศ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของไทยเอง เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์สำหรับป้องกันและรักษาโรคนั้น มีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ จากสถานการณ์นี้เป็นโอกาสให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นในประเทศ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม BCG ที่สามารถนำไปผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. และมาตรฐานสากล สร้างความมั่นคงให้กับประเทศในอนาคต อีกทั้งสามารถส่งออกไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้ เพื่อความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข
"ผลงานวิจัยและนวัตกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์จากฝีมือนักวิจัยไทย ได้เกิดขึ้นมากมาย จากการรวมพลังของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งมอบให้สถานพยาบาลทั่วประเทศได้ใช้งานในการป้องกันและรักษาโรค COVID-19 ซึ่ง สวทช. เห็นปัญหาหนึ่งในการส่งมอบคือ ข้อมูลความต้องการ (Demand) อุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์จากสถานพยาบาล กับข้อมูลการจัดหา (Supply) อุปกรณ์/เครื่องมือการแพทย์ของผู้ประสงค์บริจาค ขาดการบริหารจัดการในภาพรวมอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การกระจายอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ไม่ได้ถูกส่งไปใช้งานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ"
สวทช. จึงร่วมมือกับ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ พัฒนาไอทีแพลตฟอร์ม “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19” (Medical Devices Demand-Supply Matching for COVID-19) เพื่อเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลความต้องการจากโรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่มีความต้องการรับบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือการแพทย์ ประสานไปยังผู้ประสงค์บริจาคทั้งในนามบุคคลหรือนิติบุคคลผ่านแพลตฟอร์มเชื่อมกันโดยตรง
ทั้งนี้ เพื่อให้ความต้องการของผู้บริโภค (Demand) และปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการมอบให้กับผู้บริโภค (Supply) เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยผ่านเว็บไซต์ URL: mds4covid19.in.th (Medical Devices System for COVID-19) ตอบโจทย์การจับคู่หน่วยงานรับบริจาคและผู้ต้องการบริจาคอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 นี้ไปด้วยกัน สำหรับในอนาคตระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้กับภาวะวิกฤตด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ไฟป่า น้ำท่วม โรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อื่นๆ
ด้าน นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 นี้ ทำให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศขาดแคลนอุปกรณ์ในการรักษาโรคจำนวนมาก ต่างต้องช่วยเหลือตนเองในการร้องขอบริจาคทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์อื่นๆ อย่างฉุกละหุก ผ่านทางสื่อต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ดังนั้น สวทช.พร้อมด้วยเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ทั้ง 4 พันธมิตรจึงพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง “ระบบบริหารความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19” (Medical Devices Demand-Supply Matching for COVID 19) เป็นศูนย์กลางรวบรวมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนของโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ต้องการขอรับบริจาค สามารถระบุความต้องการในแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
นายพิชิตกล่าวอีกว่า ระบบนี้ยังสามารถช่วย Matching หรือจับคู่ให้ผู้มีจิตศรัทธาในการเลือกบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่ โรงพยาบาลที่ตนเองต้องการที่จะบริจาคได้ตามความประสงค์ โดยกระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแบบ Real-time ทำให้ทั้งโรงพยาบาลและผู้บริจาคสามารถรับรู้สถานะล่าสุดได้ตลอดเวลา โรงพยาบาลที่ต้องการขอรับบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ เพียงลงทะเบียนด้วยการใส่รหัสโรงพยาบาลของตนเองเท่านั้น ระบบสามารถดึงข้อมูลชื่อ โรงพยาบาล ที่อยู่ และอื่นๆ ทั้งหมดให้โดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ระบบไม่มีรายชื่อของโรงพยาบาลนั้นอยู่ในระบบ ก็เพียงกรอกข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อย พร้อมกับผู้บริจาคสิ่งของ สามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ หากผู้ใช้งานระบบมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., โทร 02-620-1828 หรือ QR Code
ที่มา : Manager online 13 พฤษภาคม 2563 [https://mgronline.com/science/detail/9630000049572]