มลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงทั่วโลก เนื่องจากประเทศต่าง ๆ พยายามต่อสู้กับการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสโดยการสั่งให้ประชากรในประเทศของตนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงที่เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่นี้ คือผลกระทบระยะยาวที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม

     นับตั้งแต่เกิดการระบาดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ปิดตัวลง บรรดาสายการบินลดการให้บริการ ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้าน หรือไม่ทำงานเลย ตลอดจนการจราจรที่ลดลงจนถึงน้อยที่สุด
การที่ทุกประเทศปิดตัวลง จึงกลายเป็นการทดลองการลดก๊าซเรือนกระจกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การนาซ่าเปิดเผยข้อมูลดาวเทียมจากทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นลดลงถึง 30% ไนโตรเจนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการขนส่ง และการผลิตกระแสไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ. 2563 มีระดับการปล่อยก๊าซที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548
องค์การ NASA รายงานว่า ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการผลิต และเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด มีระดับมลพิษลดลงระหว่าง 10% และ 30% นับตั้งแต่การปิดเมืองทางภาคตะวันออกและภาคกลางของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม
ทางภาคเหนือของอิตาลีซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและมีการจราจรคับคั่งอีกแห่งหนึ่ง ก็พบว่าระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงประมาณ 40% ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่เริ่มมีการกักตัว
Dr. John Balmes ศาสตราจารย์คณะแพทย์ศาสตร์และโฆษกประจำชาติของสมาคมปอดอเมริกัน กล่าวกับ VOA ว่า สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศล้วนมาจากยานยนต์ และแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากที่บริษัทธุรกิจโดยทั่วไปปิดตัวลงจึงมีการปล่อยมลพิษจากแหล่งเหล่านั้นน้อยลง
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางคนมองว่า นี่เป็นโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันผลลัพธ์ที่ร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บ้างก็กล่าวว่า การที่ทั่วโลกมีนโยบายให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้านส่งผลดีต่อสภาพภูมิอากาศ คือช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้น
แต่ผลอันเกิดจากวิกฤตสุขภาพครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมไปเสียทั้งหมด

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาเนื่องจากหลาย ๆ เมืองทั่วโลกได้หยุดโครงการรีไซเคิลเป็นการชั่วคราว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสตามศูนย์รีไซเคิลต่าง ๆ ที่ยุโรปมีการลดตัวเลือกของวิธีการกำจัดขยะ ส่วนที่อิตาลี ประชากรที่ติดเชื้อถูกห้ามไม่ให้ทำการคัดแยกขยะของตน
นอกเหนือไปจากการที่ขยะพลาสติกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็น อย่างเช่น น้ำบรรจุขวด หน้ากากอนามัย ถุงมือทางการแพทย์ กระดาษเช็ดทำความสะอาด และเจลล้างมือ ก็สูงขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทจะมีความก้าวหน้าในการลดความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ตอนนี้บางบริษัทได้เปลี่ยนกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อช่วยลดการปนเปื้อน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจะเตือนว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวก็สามารถทำให้ติดไวรัสและแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน
ที่นครนิวยอร์กได้เลื่อนการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวออกไป ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ห้ามลูกค้านำแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มาเติมกาแฟเป็นการชั่วคราว แต่ใช้เป็นแก้วกระดาษแทน
ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยการกักตัวเองอยู่ที่บ้านทำให้ขยะในครัวเรือนมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาซื้อของทางออนไลน์ และสั่งอาหารให้มาส่งที่บ้าน ซึ่งต้องใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก
นอกจากนี้ขยะทางการแพทย์จากโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม มีรายงานว่าโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีการผลิตขยะมากกว่า 200 ตันต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณขยะก่อนการระบาดใหญ่ซึ่งมีน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าการระบาดใหญ่ครั้งนี้จะอยู่ไปนานแค่ไหน และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง

ที่มา : Voice of America 17 พฤษภาคม 2563  [https://www.voathai.com/a/global-shutdown-environmental-experiment/5396841.html]