ศิริราช ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กระจกตา 3 วิธีสำเร็จครั้งแรกของไทย ทั้งวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์ลิมบัส เยื่อบุปาก และไม่ต้องเพาะเลี้ยง ชู "ศิริราชเทคนิค" ทำสูตรอาหารเลี้ยงเซลล์สะอาด ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนโปรตีนสัตว์
วันนี้ (4 มิ.ย.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย” ว่า สเต็มเซลล์ที่อยู่ติดขอบกระจกตา จะป้องกันให้กระจกตาสะอาดตลอดเวลา ไม่ให้เส้นเลือดเข้าไปเลี้ยง ซึ่งกระบวนในร่างกาย เมื่อมีอะไรผิดปกติ เช่น เกิดการติดเชื้อ เกิดบาดแผล เป็นต้น มักจะมีเส้นเลือดเข้าไปเลี้ยงเพื่อซ่อมแซม แต่หากกระจกตามีเลือดเข้าไปเลี้ยงจะทำให้ขุ่นมัว การเห็นภาพจะแย่ลง จนมองไม่เห็นในที่สุด ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ การรักษาจึงต้องทำให้สเต็มเซลล์ที่สูญเสียไปกลับคืนมา หลักการง่าย แต่กระบวนการไม่ง่าย ศิริราชได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กระจกตาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 และได้พัฒนาต่อมาจนเกิดการรักษา 3 รูปแบบ และพัฒนากระบวนการรักษาจนเรียกว่าเป็น "ศิริราชเทคนิค" ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบ ศิริราชทำการผ่าตัดไปแล้ว 86 ตาในผู้ป่วย 75 ราย
รศ.พญ.งามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าวว่า กระจกตามนุษย์จะมีความใสและเรียบ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน โดยมีสเต็มเซลล์กระจกตาอยู่รอบ ตาดำ ทำหน้าที่เสมือนโรงงานสร้างเซลล์ผิวกระจกตาแทนเซลล์เก่าที่ตาย และเป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตา สาเหตุที่ทำให้สเต็มเซลล์กระจกตาบกพร่อง มีทั้งการรับสารเคมีเข้าตา การแพ้ยาอย่างรุนแรงกลุ่มสตีเวนส์ จอห์นสัน การอักเสบติดเชื้อที่ตาอย่างรุนแรง สเต็มเซลล์กระจกตาบกพร่องแต่กำเนิด เนื้องอก ต้อเนื้อ การผ่าตัดตาหลายครั้ง ทำให้เส้นเลือดรุกเข้ามาในกระจกตา ทำให้ตาขุ่นมัว เกิดแผลถลอกที่ผิวกระจกตา และติดเชื้อ เป็นภาวะที่รักษายาก การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไม่สามารถรักษาได้ เพราะหากเปลี่ยนกระจกตา เส้นเลือดก็ยังสามารถรุกเข้ามาใหม่ได้ จึงต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้ผู้ป่วย
รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราช กล่าวว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กระจกตา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ใช้การเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งจะได้เซลล์จาก 2 แหล่ง คือ เนื้อเยื่อลิมบัสจากดวงตา วิธีนี้เรียกว่า CLET โดยจะตัดเนื้อเยื่อที่มีสเต็มเซลล์กระจกตาออกมา 2x2 มิลลิเมตร (ม.ม.) เพาะเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ใช้เวลา 2 สัปดาห์เนื้อเยื่อจะโตเป็น 3x3 เซนติเมตร (ซ.ม.) แล้วนำมาปลูกถ่ายบนผิวกระจกตาผู้ป่วย โดยนำมาจากตาที่ดีอีกข้างของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยเป็นที่ตาทั้งสองข้างก็จะนำมาจากญาติสายตรงหรือตาบริจาคของผู้เสียชีวิต แต่จะต้องรับยากดภูมิเพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้าน ส่วนอีกแหล่ง คือ "เยื่อบุปาก" ที่มีคุณสมบัติใช้แทนได้ เรียกวิธีนี้ว่า COMET จะตัดเยื่อบุปากผู้ป่วยขนาด 5x5 ม.ม. มาเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการเดียวกัน ใช้เวลา 2 สัปดาห์จนได้เซลล์ 3x3 ซ.ม. แล้วนำมาปลูกถ่าย โดยไม่ต้องใช้ยากดภูมิ
รศ.พญ.ภิญนิตา กล่าวว่า และ 2.กลุ่มที่ไม่ใช้การเพาะเลี้ยง แต่ตัดเนื้อเยื่อมาปลูกถ่ายกับผู้ป่วยโดยตรงเลย เรียกว่า SLET โดยจะตัดเนื้อเยื่อลิมบัสมาขนาด 1.5x3 ม.ม. แล้วนำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ 20-30 ชิ้น จากนั้นนำไปปลูกถ่ายที่กระจกตา โดยใช้กาวพิเศษในการติดแปะไม่ต้องเย็บ ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ใช้เวลาราว 3-5 ชั่วโมง จากนั้นปล่อยให้เซลล์เจริญเติบโตจนเต็มผิวกระจกตา ซึ่งใช้เวลาราว 2 สัปดาห์เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องนอนรพ.ประมาณ 1 เดือนหลังการผ่าตัด เพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์ติดดีและเจริญเติบโตเต็มพื้นที่แล้ว และแม้จะรักษาเสร็จแล้วก็จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะการรักษาทำในรูปแบบของงานวิจัย ซึ่งการเลือกวิธีการรักษาจะดูตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นโรคมานานเท่าใด โดยจะเลือกวิธี SLET เป็นวิธีแรก แต่หากสภาพไม่เหมาะสมก็จะใช้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทน อย่างผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะกับใช้ยากดภูมิ ก็อาจต้องใช้เนื้อเยื่อบุปาก เป็นต้น
"ส่วนข้อจำกัด คือ น้ำตาของผู้ป่วยยังมีเพียงพอหรือไม่ และสภาพเปลือกตาของผู้ป่วย ถ้าผิดปกติจะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขก่อน นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงเซลล์ยังดำเนินการเฉพาะในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ที่มีห้องแล็บได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ศิริราชมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจักษุแพทย์ด้านกระจกตาทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้ ศิริราชมีการติดตามผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการนี้นานสุด 5 ปี พบว่ายังสามารถมองเห็นได้ 80% ของคนปกติ” รศ.พญ.ภิญนิตา กล่าว
รศ.ดร.ปัทมา เอกโพธิ์ ฝ่ายวิจัย และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราชทางห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า ทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน และฝ่ายวิจัยศิริราช ได้พัฒนากระบวนการผลิตเซลล์ โดย "ศิริราชเทคนิค" ทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เซลล์ที่จะนำไปใช้ในการปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยนั้น มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง โดยอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเซลล์ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือสารเคมีอันตรายใดๆ และการเพาะเลี้ยงเซลล์ทำในห้องปฏิบัติการสะอาด ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล (ISO 14644-1) ทั้งมี การควบคุมคุณภาพของกระบวนการการผลิตเซลล์ ซึ่งเซลล์ที่เพาะเลี้ยงด้วยวิธีศิริราชเทคนิค สามารถโตได้เพียงพอในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ตามเวลาที่กำหนดประมาณ 2-3 สัปดาห์ และมีปริมาณสเต็มเซลล์สูงมากกว่า80% จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และศิริราชพร้อมที่ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดนี้ให้กับรพ.ต่างๆด้วย
นายประกอบ วรฤทธิ์ ผู้ป่วยที่ได้รับการการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง กล่าวว่า ตนเองมีอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ตามืดมัว มองไม่เห็น ก่อนหน้านี้เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชนและรัฐ ด้วยการผ่าตัดตา 2 ข้าง ข้างละเกิน 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จนได้มาเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ได้จากลูกสาว ตอนนี้ผ่านมา 1 ปีครึ่งแล้ว เหมือนได้ชีวิตใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มองไม่เห็นเหมือนตายทั้งเป็น รู้สึกชีวิตเป็นศูนย์ ตอนนี้กลับมามองเห็นแม้ไม่ 100 % แต่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้ สามารถไปไหนมาไหน ทำงานได้ ตนและครอบครัวมีความสุขขึ้นมาก
เมื่อถามถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วย "ศิริราชเทคนิค" มีความเฉพาะแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงไม่ได้เกิดขึ้นที่ศิริราชก่อน แต่มาจากอินเดีย และต่อมาก็มีการปลูกถ่ายโดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงเซลล์จะต้องเหมาะสม สะอาด ซึ่งอดีตการเพาะเลี้ยงมีการใช้สารอาหารที่ปนเปื้อนโปรตีนเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ศิริราชเทคนิคได้พัฒนาสูตรในการเลี้ยงเซลล์ที่มีความสะอาด ปราศจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และสารเคมี ซึ่งสูตรในการเลี้ยงนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจถูกนำไปจดสิทธิบัตร แต่หากตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยแล้ว ศิริราชก็จะถ่ายทอดให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น ระหว่างนี้หากโรงพยาบาลอื่นๆ มีคนไข้ก็สามารถส่งตัวมารักษาเพื่อเข้าร่วมงานวิจัยได้
ที่มา : Manager online 4 มิถุนายน 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000053264]