การรณรงค์ด้านพลาสติกโดยพยายามให้ “ลดการใช้ หมุนเวียนใหม่ รีไซเคิล” (Reduce, Reuse, Recycle) กำลังเป็นกระแสทั่วโลก เพราะปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกำลังเข้าขั้นวิกฤติ แต่ถ้าเลิกใช้พลาสติกอย่างปัจจุบันทันด่วน ผู้คนคงเดือดร้อนไม่น้อย ตอนนี้ในประเทศต่าง ๆ จึงค่อย ๆ เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาขยะพลาสติก
แต่ในญี่ปุ่น ถ้าถามถึงความตระหนักในระดับประชาชนตอนนี้ละก็ ยังถือว่าต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีบทบาทระดับแนวหน้าของโลกก็พยายามไม่นิ่งเฉย และได้แสดงภาวะผู้นำในการประชุมกลุ่มประเทศที่สำคัญและชาติที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู 20 ชาติ หรือ G20
ที่ประชุม G20 ครั้งล่าสุดจัดที่นครโอซากาทางตะวันตกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน (ไทยไม่ใช่สมาชิก G20 แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานอาเซียน) ญี่ปุ่นแสดงความเป็นผู้นำด้วยการออก “วิสัยทัศน์โอซากามหาสมุทรสีคราม” (Osaka Blue Ocean Vision) โดยเห็นพ้องกันว่าจะพยายามลดมลภาวะเพิ่มเติมที่เกิดจากขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 อีกทั้งวางกรอบงานให้แต่ละประเทศรายงานนโยบายและการปฏิบัติของตนอย่างสม่ำเสมอด้วย จากวิสัยทัศน์นี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นประกาศว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อการกำจัดขยะ
เมื่อมองภาพรวมของขยะพลาสติกในระดับโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประเมินว่าปริมาณพลาสติกทั่วโลกในแต่ละปีคือ 400 ล้านตัน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก หลอด พอเป็นขยะก็มีทั้งขยะที่ถูกเก็บรวบรวมกลับเข้าระบบบำบัด และขยะที่ไม่ได้กลับเข้าระบบ ส่วนหลังนี้อาจถูกฝน หรือพายุ หรือแม้แต่คน ทำให้กระจัดกระจายลงสู่แหล่งน้ำ
ในบรรดาขยะพลาสติกในทะเล ประเภทที่มีมากที่สุดคือ ก้นบุหรี่ (พลาสติกชนิดหนึ่ง ทำจากเซลลูโลสอะซิเทต) รองลงมาคือขวดพลาสติกและถุงพลาสติกตามลำดับ นอกจากนี้ ของบางอย่างก็กลายเป็นขยะโดยที่ผู้ใช้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่นหญ้าเทียม เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะเสื่อมสภาพและแตกร่วน พอถูกฝนชะ จะกระจายไปทั่วโดยไม่ได้ตั้งใจ และตกลงไปในแม่น้ำบ้าง ท่อระบายน้ำบ้าง หรือการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางก็ทำให้ขยะเกลื่อนไปทั่ว เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้นในหลายประเทศย่อมกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก สร้างมลภาวะแก่ทะเล และเป็นภัยต่อชีวิตสัตว์ดังเช่นกรณีผ่าท้องวาฬแล้วพบขยะพลาสติกหลายกิโลกรัม
ในกรณีของญี่ปุ่น หากลองใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นสักพักจะรู้สึกได้ทันทีว่าญี่ปุ่นใช้พลาสติกเยอะมาก การซื้อของตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เกตมีถุงพลาสติกให้ฟรี ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (มีบ้างที่ต้องจ่ายเงินซื้อถุง แต่ก็น้อยมาก) ในขณะที่บางประเทศไม่ให้ถุงหรือบางประเทศใช้ถุงกระดาษ นอกจากนี้ ตู้ขายน้ำบรรจุขวดพลาสติกก็มีอยู่ทั่วไปตามริมถนน แม้ญี่ปุนมีระบบระเบียบด้านการทิ้งและแยกขยะ แต่การเก็บขวดพลาสติกคืนสู่ระบบก็ทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทำได้ 92% แต่ที่เหลืออีก 8% นั้นไม่มีใครรู้ว่าตกหล่นไปที่ไหน ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าส่วนหนึ่งกระจายลงสู่ทะเล
แต่ละปีญี่ปุ่นมีขยะพลาสติกประมาณ 9 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำไปรีไซเคิล 84% ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1) แปรรูปเป็นวัสดุอื่น เช่น นำไปทำเก้าอี้นั่งตามสถานีรถไฟ ญี่ปุ่นใช้วิธีการนี้ประมาณ 23% แต่เมื่อหมุนเวียนมาก ๆ คุณภาพพลาสติกจะยิ่งลดลงและใช้ได้ยากขึ้น จึงต้องฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีขั้นต่อไป, 2) รีไซเคิลทางเคมี คือ การนำไปสลายโมเลกุลให้เป็นวัตถุดิบพลาสติกอีก แต่ขั้นนี้ก็ดำเนินการได้ยาก และปัจจุบันทำแค่เพียง 4% เท่านั้น, 3) เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน คือ การส่งเข้าเตาเผาและนำความร้อนไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตไฟฟ้า ให้ความอุ่นแก่สระน้ำ ญี่ปุ่นทำส่วนนี้ 57% ของปริมาณทั้งหมดที่รีไซเคิล
สำหรับการแปรรูปเป็นวัสดุอื่น เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่หมายรวมถึงการส่งออกขยะพลาสติกไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยถึงปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน ประเทศที่รับไปจะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่สภาพของประเทศนั้น ซึ่งตรวจสอบควบคุมได้ยาก แต่เมื่อออกไปจากญี่ปุ่นแล้ว ย่อมไม่ใช่ภาระหน้าที่ของญี่ปุ่น
การรีไซเคิลในญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้จะทำได้ แต่มีค่าใช้จ่ายและบางกระบวนการก็ยุ่งยาก เมื่อมองจากต้นทุนด้านแรงงาน ส่วนไหนที่ดูท่าว่าไม่คุ้ม ญี่ปุ่นจะส่งไปยังที่ที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่า ซึ่งไม่ใช่ที่อื่นไกล บ้านใกล้เรือนเคียงนี่แหละ ได้แก่ จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนามนี่เอง แต่จีนซึ่งเคยรับขยะพลาสติกเข้าประเทศมากที่สุดในโลกได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเมื่อปลายปี 2017 แน่นอนว่าญี่ปุ่นย่อมเดือดร้อน (ประเทศอื่นอย่างอังกฤษและอเมริกาที่ส่งออกขยะไปยังจีนก็ด้วย) ปริมาณจึงถูกโยกมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ภาพรวมคร่าว ๆ ของการส่งออกขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นมีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีดังนี้
ด้วยความเดือดร้อนของญี่ปุ่นด้านการกำจัดขยะพลาสติกประกอบกับกระแสโลก ญี่ปุ่นไม่อาจนิ่งเฉยได้ต่อไป “วิสัยทัศน์โอซากามหาสมุทรสีคราม” ในการประชุม G20 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการรณรงค์และการคลี่คลายของญี่ปุ่นไปในคราวเดียวกันด้วย สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์นี้ ญี่ปุ่นได้วางแนวทางที่เป็นรูปธรรมออกมามากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “MARINE Initiative” (“มารีนอินนิชิเอทีฟ”—แนวคิดริเริ่มเพื่อทะเล) อันประกอบด้วย (1) Management of wastes—การจัดการขยะ, (2) Recovery of marine litter—การเก็บขยะในทะเล, (3) Innovation—นวัตกรรม, (4) Empowerment—การเสริมสร้างพลัง และญี่ปุ่นจะดำเนินการผ่าน 3 ช่องทางหลัก (ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น)
1) ให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) แบบทวิภาคี และความช่วยเหลือผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ฝึกอบรมบุคลากรด้านการกำจัดขยะ 10,000 คนทั่วโลกภายในปี 2025 และตอกย้ำความตระหนักเรื่องพลาสติกด้วยนโยบาย “3R” (Reduce, R
euse, Recycle) หรือ “ลดการใช้ หมุนเวียนใหม่ รีไซเคิล”
2) ดำเนินการระหว่างประเทศผ่านบริษัทญี่ปุ่น องค์กรภาคเอกชน และทางการท้องถิ่นของญี่ปุ่น เช่น ส่งออกเทคโนโลยี สร้างสถานที่ด้านการกำจัดขยะ
3) เผยแพร่และแบ่งปันการปฏิบัติที่ได้ผลสูงสุดตามแนวทางภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะ การเก็บขยะในทะเล และนวัตกรรม โดยดำเนินการผ่านการประชุมระหว่างประเทศ อีกทั้งร่วมมือกับอาเซียนเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคว่าด้วยขยะพลาสติกในทะเล”
อันที่จริง ความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายระดับประเทศในญี่ปุ่นเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสองสามปีแล้ว มีรายการโทรทัศน์และบทความตีพิมพ์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกออกมาเป็นระยะ แต่การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นยังเหมือนเดิม ความตระหนักไม่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งคงเพราะประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และอีกส่วนหนึ่งคงเพราะญี่ปุ่นมองว่าระบบกำจัดขยะ (รวมทั้งขยะพลาสติก) ของตนนั้นมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเท่าที่ผ่านมาก็มีพื้นที่รองรับขยะพลาสติกของตนอยู่ในต่างประเทศหลายแห่ง ทว่าจากนี้ไปสถานการณ์จะไม่เหมือนเดิม คงต้องดูกันว่าการรณรงค์ของญี่ปุ่นจะได้ผลมากน้อยเพียงใด และจะปรับตัวอย่างไรเมื่อหาที่ทิ้งขยะนอกประเทศได้ยากขึ้น
ที่มา : Manager online 2 กรกฏาคม 2562 [https://mgronline.com/japan/detail/9620000062890]