ระยอง​ -​ ผอ.ศวทอ.​ แจงเหตุน้ำทะเลระยองเปลี่ยนสีแดง-เขียว​ ตลอดแนวชายหาดแม่รำพึง​ จ.ระยอง​ เกิดจากแพลงก์ตอนพืชชนิดไม่สร้างสารชีวพิษ และเป็นชนิดที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งตะวันออก​ ยันคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ไม่กระทบสัตว์ทะเล

วันนี้​ (22 ก.ค.)​ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กบ้านก้นอ่าว (หาดแม่รำพึง) ต.เพ อ.เมืองระยอง​ ได้พบเหตุการณ์ประหลาดน้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายหาดแม่รำพึง​ จ.ระยอง​ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา​ โดยเฉพาะบริเวณแอ่งที่มีน้ำทะเลขังที่กลายเป็นสีเขียวคล้ายตะไคร่และสีแดง ซ้ำยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว​ จนชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น
ล่าสุด​ นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการ​ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ได้ออกมาชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุทางศูนย์ฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการสำรวจพื้นที่เกิดเหตุและเก็บตัวอย่างน้ำทะเล จำนวน 3 สถานี (แม่รำพึง 1-3) เบื้องต้นพบว่าน้ำทะเลมีตะกอนสีน้ำตาลตลอดแนวชายหาดเป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร​ โดยเฉพาะบริเวณสถานีแม่รำพึง 1 (ก้นอ่าว) มีสีเข้มแต่ไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนบริเวณชายหาดพบแอ่งน้ำมีคราบสีน้ำตาลเขียวและแดง และมีกลิ่นเหม็น
และจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พบว่า​ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการและยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ​ ซึ่งจากการจำแนกชนิดแพลงก์ตอนพืช ทราบว่าเกิดจากการสะพรั่งของไซยาโนแบคทีเรียชนิด Trichodesmiumerythraeum ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษและเป็นชนิดหนึ่งที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก
จึงขอให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสบายใจได้ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแต่อย่างใด
"ส่วนกรณีที่น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีชมพู เกิดจากเซลล์ที่ตายหรือเริ่มตายและมีการปล่อยสารสี phycoerythrin ออกมาจากเซลล์ จึงทำให้น้ำบริเวณนั้นมีสีชมพูเด่นชัด แต่ในน้ำทะเลและขอบดินตะกอนที่พบเซลล์ Trichodesmium จากภาพใต้กล้องที่ยังมองเห็นเป็นสีเขียวอมแดงนั้น เพราะเซลล์ยังมีสภาพปกติอยู่ จึงมีคลอโรฟิลล์ เอ อยู่ในเซลล์ แต่สัดส่วนของ phycoerythrin ที่ละลายในน้ำนั้นมีมากจนทำให้มองเห็นน้ำทะเลเป็นสีชมพูแทนที่จะเป็นสีเขียวนะ"
นายสุเทพ ยังเผยอีกว่าน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวมีเซลล์ Trichodesmium กำลังตายเป็นจำนวนมาก จึงปล่อยสารสี phycoerythrin ออกจากเซลล์มากตาม ซึ่งสารสีนี้มีปริมาณที่มากพอจนทำให้มองเห็นน้ำทะเลเป็นสีชมพูได้

ที่มา : Manager online 22 กรกฏาคม 2562  [https://mgronline.com/local/detail/9620000069593]