การวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่า ดวงจันทร์ของโลกเราเกิดจากการชนกันของวัตถุในอวกาศและดวงจันทร์ยังได้นำเอาชั้นบรรยากาศ 10% ถึง 60% ออกไปจากโลกอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อนในขณะที่โลกยังคงก่อตัวอยู่ วัตถุขนาดใหญ่ขนาดเท่ากับดาวอังคารพุ่งเข้าชนโลก ส่งอนุภาคที่กลายเป็นไอจากการชนกันนั้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งต่อมาถูกรวมเข้าด้วยกันผ่านแรงโน้มถ่วงจนกลายเป็นดวงจันทร์

.

"Impact hypothesis" เป็นหนึ่งในสามทฤษฎีหลักของการกำเนิดดวงจันทร์ ส่วนทฤษฎีอื่นๆ ชี้ว่า ดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นในเวลาเดียวกันกับโลก หรือถูกจับโดยสนามแรงดึงดูดของโลกในขณะที่เดินทางผ่านอวกาศ

.

ในการศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Astrophysical Journal Letters เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยมุ่งศึกษาทฤษฎีเรื่องการพุ่งชนด้วยการสร้างแบบจำลองการชนกันของวัตถุขนาดใหญ่กับดาวเคราะห์หินที่มีชั้นบรรยากาศเบาบางเหมือนโลกด้วยคอมพิวเตอร์มากกว่า 300 แบบ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พิจารณาถึงมุมที่วัตถุพุ่งชนโลก ความเร็วในการพุ่งชน ตลอดจนขนาดและมวลของวัตถุที่ชนกัน

.

การวิจัยครั้งก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า การพุ่งชนกันในช่วงปลายของระยะการก่อตัวของโลกอาจส่งผลต่อชั้นบรรยากาศโลก ทั้งนี้ การทำแบบจำลองในการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การชนกันแบบเดียวกับที่สามารถสร้างดวงจันทร์ได้ อาจทำให้โลกสูญเสียชั้นบรรยากาศส่วนสำคัญไป

.

Jacob Kegerreis นักจักรวาลวิทยาของมหาวิทยาลัย Durham University ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า แม้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์นี้ไม่ได้อธิบายโดยตรงว่าดวงจันทร์ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร แต่การศึกษาเรื่องผลกระทบที่มีต่อชั้นบรรยากาศของโลกก็สามารถใช้ในการจำกัดคำอธิบายเนื่องการก่อกำเนิดดวงจันทร์ให้แคบลงได้เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคต

.

ที่มา : https://www.voathai.com/a/earth-loses-some-atmosphere-to-moon/5612356.html