งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบหลักฐานบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวช (psychiatric disorders) เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคนอนไม่หลับ มากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ โดยพบว่า 5.8% หรือ 1 ใน 17 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยทางจิตภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อ

นี่ถือเป็นการศึกษาครั้งใหญ่ชิ้นแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้เฝ้าศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพของคนในสหรัฐฯ จำนวน 69 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รวมอยู่ด้วย 62,000 ราย จาก TriNetX เครือข่ายผู้ให้บริการข้อมูลเพื่อการวิจัยทั่วโลก

.

งานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Psychiatry ยังพบด้วยว่า ผู้ที่มีปัญหาโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 65% ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19

.

ทีมนักวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของพวกเขาหรือการใช้ยารักษาอาการป่วยทางจิตตามใบสั่งแพทย์ พร้อมชี้ว่าคนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลที่เหมาะสม

.

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังไม่ออกคำแนะนำให้ผู้ป่วยจิตเวชเก็บตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือคิดว่าตนเองเป็นคนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ

.

ศาสตราจารย์ พอล แฮร์ริสัน จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า คนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 "จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีปัญหาทางสุขภาพจิต" ซึ่งรวมถึงผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้อาการหนักถึงขั้นที่ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วย

.

ตัวก่อความเครียดทางด้านจิตใจ (Psychological stressors)

ทีมนักวิจัยติดตามศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 62,000 คนเป็นเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรค แล้วนำข้อมูลของคนกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนหลายพันคนที่มีความเจ็บป่วยอย่างอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคนิ่วในไต หรือกระดูกหัก แล้วพบว่าผู้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตคิดเป็นสัดส่วน

  • 18% ของผู้ป่วยโควิด-19
  • 13% ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • 12.7% ของผู้ป่วยกระดูกหัก

แต่หากไม่นับรวมกลุ่มผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว และผู้ที่มีอาการกำเริบแบบเป็น ๆ หาย ๆ สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่

  • 5.8% ของผู้ป่วยโควิด-19
  • 2.8% ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • 2.5% ของผู้ป่วยกระดูกหัก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งรวมถึง

  • ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีปัจจัยกดดัน ทำให้เกิดความตึงเครียดจนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน หรือการทำงาน
  • ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (generalised anxiety disorder) ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลกระทบเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีความเครียดหรือกังวลมากไปในหลายเรื่อง บางครั้งอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติทางจิตใจหลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต

นอกจากนี้ยังพบปัญหาความผิดปกติทางด้านอารมณ์ (mood disorders) ด้วยแต่มีสัดส่วนน้อยกว่า

.

ศาสตราจารย์แฮร์ริสัน กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องเร่งศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อหาสาเหตุและการรักษาแบบใหม่"

.

ขณะที่ นพ.ไมเคิล บลูมฟิลด์ จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า ความเชื่อมโยงของโรคโควิด-19 กับโรคทางจิตเวชอาจเป็นผลมาจาก "ตัวก่อความเครียดทางด้านจิตใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะที่เกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้รวมกันผลกระทบทางกายที่เกิดจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น"

.

ส่วนศาสตราจารย์ คุณหญิง ทิล ไวก์ส จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ แห่งสถาบันคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่า "ความผิดปกติทางจิตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนทั่วไปในสหราชอาณาจักร"

.

อย่างไรก็ตาม ดร.โจ แดเนียลส์ จากมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษบอกว่า จำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัยให้มากกว่านี้ก่อนที่จะมีข้อสรุปใด ๆ โดยเธอชี้ว่า "เราต้องตระหนักว่าความผิดปกติทางจิตใจเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปอยู่แล้วในหมู่ผู้ที่มีปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกาย"

.

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-54901493