บริเวณที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงผิดปกติเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ หรือที่เรียกกันว่า Southern Atlantic Anomaly (SAA) ยังคงเป็นปริศนาที่ยากจะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่

ล่าสุดในการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ ครั้งที่ 52 (LPSC 52) มีนักวิจัยรุ่นใหม่เสนอแนวคิดที่น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงผิดปกติในบางพื้นที่ดังกล่าว อาจเกิดขึ้นเพราะชิ้นส่วนขนาดยักษ์ของดาวดวงอื่นที่เคยเฉี่ยวชนกับโลกในอดีต และยังคงตกค้างฝังอยู่ในโครงสร้างส่วนลึกของโลก

นายเฉียน หยวน นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตของสหรัฐฯ เป็นผู้เสนอแนวคิดข้างต้น โดยระบุว่าชิ้นส่วนหินแข็ง 2 ก้อน ซึ่งมีความหนาแน่นและอุณหภูมิสูงกว่าโลหะหลอมเหลวที่ไหลเวียนอยู่ตรงรอยต่อระหว่างเนื้อโลกและแก่นโลกชั้นนอก เป็นตัวการขัดขวางการพาความร้อน (convection) ที่จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กพลังสูงขึ้น

หินแข็งขนาดยักษ์จากต่างดาวดังกล่าว มีปริมาตรมากกว่าเขาเอเวอเรสต์หลายล้านเท่า ฝังอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก 2,897 กิโลเมตร และคาดว่ามีอายุเก่าแก่ราว 4.5 พันล้านปี โดยน่าจะเป็นชิ้นส่วนของ "เทีย" (Theia) ดาวเคราะห์โบราณขนาดเท่ากับดาวอังคาร ซึ่งบังเอิญเบียดเข้าใกล้โลกจนเกิดเฉี่ยวชนกันในยุคที่โลกเพิ่งถือกำเนิดขึ้นหินจากต่างดาวชิ้นที่ฝังอยู่ตรงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ อาจขัดขวางไม่ให้กระแสโลหะหลอมละลายไหลอย่างเป็นระเบียบ และมีบางส่วนไหลทวนกระแสไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งทำให้สนามแม่เหล็กโลกในบริเวณดังกล่าวอ่อนกำลังลงอย่างผิดหูผิดตาได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังคงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากหินแข็งต่างดาวอีกก้อนหนึ่งที่ฝังอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ได้ทำให้สนามแม่เหล็กโลกอ่อนกำลังลงในบริเวณนั้นแต่อย่างใด

ข้อมูลล่าสุดจากฝูงดาวเทียม Swarm ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ชี้ว่าบริเวณที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงผิดปกติเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ กำลังขยายตัวไปสู่ทวีปแอฟริกา โดยมีแนวโน้มจะแยกตัวเป็นศูนย์กลางความผิดปกติแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ผลการสำรวจด้วยดาวเทียมยังพบว่า ความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกในบริเวณดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

สนามแม่เหล็กโลกที่อ่อนแรงทำให้ดาวเทียมและยานอวกาศต่าง ๆ เสียหาย หรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเมื่อโคจรผ่านภูมิภาคอเมริกาใต้ตอนกลางไปจนถึงตอนล่าง รวมทั้งพื้นที่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และทวีปแอฟริกาทางตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากขาดเกราะกำบังรังสีอันตรายและอนุภาคมีประจุที่ทรงพลังจากห้วงอวกาศ

ท่ี่มา : BBC THAI  https://www.bbc.com/thai/international-56794814