การทำถนนยางมะตอยแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคย ยางมะตอยที่ใช้มาจากการผสมระหว่างหินฝุ่น หินคลุกและ Asphalt Cement จากนั้นจึงทำการฉีดพ่นลงบนถนนที่ทำการบดอัดเตรียมที่ไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่ตอนนี้เราสามารถสร้างถนนยางมะตอยที่แข็งแรง ทนทานกว่าเดิม โดยใช้ “ขยะพลาสติก” วัสดุที่มีทั้งคุณประโยชน์และโทษมหาศาล แต่พอนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในขั้นตอนการคลุกหิน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยอย่างเห็นได้ชัดซึ่งพิสูจน์แล้ว
กลายเป็นว่า ขยะพลาสติกเมื่อนำมาหมุนเวียนสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดีกว่าการนำไปฝังกลบหรือเผากำจัดแน่นอน
แนวคิดโครงการนี้ เริ่มต้นจากบริษัทดาว เคมิคอล ได้ดำเนินการสร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลมาก่อนในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จึงร่วมมือที่จะดำเนินการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเช่นนี้ในประเทศไทย
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President - Polyolefin and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พูดถึงแนวคิดใหม่ของการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ว่าไม่ใช่แค่การรีไซเคิลอีกต่อไป แต่รวมถึงการคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้าน ให้มีทั้งอายุยาวนาน คงทนแข็งแรง สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือซ่อมใหม่ และเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วก็ยังนำไปทำอะไรต่อ หรือหาที่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมให้ได้ อย่างเช่นพลาสติกที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ทางเอสซีจีเองก็ได้นำมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนพลาสติกรีไซเคิล
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม สำหรับความร่วมมือกับอมตะและดาว ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและช่วยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล ณ นิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรี ให้เป็นถนนพลาสติกที่ใช้งานได้จริง และสามารถขยายโครงการนี้ต่อไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ในอนาคต ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”
นอกจากจะช่วยยืดอายุของถนน พลาสติกและยังสามารถสร้างมูลค่าให้ขยะพลาสติก ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกฝังลงใน Landfill หรืออาจไหลลงสู่ทะเลได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.allaroundplastics.com/article/innovation/2182
ที่มา : Manager online 29.08.19 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000082966]