ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และสิ่งที่ตามมาคืออาการป่วยอที่มาพร้อมอากาศร้อนอย่าง "ฮีทสโตรก” (Heat stroke) ซึ่งทำให้ตัวร้อนมากกว่า 40 องศา หน้ามืด หายใจเร็ว ไปจนถึงขั้น ช็อก หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ โดยอาการของกลุ่ม “ฮีทสโตรก” ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ป่วยที่อยู่กลางแดดนาน ๆ และมีอุณหภูมิกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้ ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นลมปกติ โดยที่ประวัติที่แตกต่างกันเลยคือ ผู้ป่วยที่เป็นลมปกติไม่ได้อยู่กลางแดด

.

อาการ “ฮีทสโตรก”
ภัยจากอากาศร้อนมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ได้แก่ คนไข้ที่มีอาการตั้งแต่การบวมเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า คนไข้ที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เวียนหัว

.

ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ได้แก่ กลุ่มคนไข้ที่มีอาการขาดน้ำจากการสูญเสียความร้อนเยอะ และอีกกลุ่มคือกลุ่มฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด เป็นกลุ่มที่รุนแรงที่สุด
.
ฮีทสโตรกสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ความร้ายแรงของฮีทสโตรก คือ ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจะทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยความผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ อันนี้เป็นอาการเริ่มต้น หลังจากนั้น ถ้าเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ก็จะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก ก็จะมีอาการที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป อาจจะมีภาวะชัก หรือว่าการหมดสติจากการที่หัวใจเราเต้นผิดจังหวะได้ และสุดท้ายคือเสียชีวิตได้

.

6 กลุ่มเสี่ยง “ฮีทสโตรก”

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง มี 6 กลุ่ม ได้แก่

1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย

2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว

3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง

4. ผู้ที่มีภาวะอ้วน

5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนและนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อกลไกควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย

6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

.

การปฐมพยาบาลผู้ป่วย “ฮีทสโตรก”
ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรค "ฮีทสโตรก" อย่างแรกคือ ต้องดูว่าคนไข้มีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไปหรือไม่ ถ้ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติ ให้ไปคลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
.
ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวที่ปกติดีอยู่ สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่มได้ และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ รีบลดอุณหภูมิกายโดยการใช้น้ำแข็ง หรือการใช้ cool blanket คือ การใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น ถ้ามีพัดลม สามารถเปิดพัดลมได้
.
หากใช้เป็นผ้าชุบน้ำ ในคนไข้ที่เป็นโรคกลุ่ม "ฮีทสโตรก" มักจะไม่ค่อยได้ผล แต่สามารถใช้ได้ โดยการเช็ดตัวให้เช็ดตัวเหมือนผู้ป่วยที่เป็นไข้ คือเช็ดสวนขึ้นมาเข้าทางหัวใจ เช็ดทางเดียว และเปิดพัดลม
.

ดูแลสุขภาพอย่างไรเมื่อ “อากาศร้อน”
คำแนะนำจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ได้แก่
.
1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
2.ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
5.ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
7.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก
8.ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930588