กรมปศุสัตว์ยัน “เนื้อไก่ปลอดภัย ไม่ก่อมะเร็ง” ขอประชาชนอย่าแตกตื่น ชี้งานวิจัยพบความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างการรับประทานไก่และความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น
ยันเนื้อไก่ไม่ก่อมะเร็ง – นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากกรณีที่งานวิจัยพบความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างการรับประทานไก่และความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงไปกินไก่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็ง ขอประชาชนอย่าแตกตื่น ยันไก่ไทยบริโภคได้ปลอดภัย เพราะงานวิจัยที่มีการอ้างอิงเป็นเพียงการแสดงความสัมพันธ์เบื้องต้นที่ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในการสนับสนุน โดยบทความวิจัยไม่ได้ มีการแสดงรายละเอียดกลไกสาเหตุที่ชัดเจนว่าการกินเนื้อไก่เป็นสาเหตุของมะเร็งจริง
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงในรายงานวิจัยนี้ว่าการเกิดมะเร็งนั้นอาจเกิดจากการได้รับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือ สารตกค้างอื่นๆ เป็นต้น และผู้ทำการวิจัยได้กล่าวสรุปในตอนท้ายของบทความดังกล่าวว่าความสัมพันธ์ของการทานไก่และการเกิดมะเร็ง ที่มีรายงานนั้นก็ไม่ได้แสดงความสัมพันธ์อย่างชัดเจน จึงควรทำการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ด้านดร.โจชัว โบรดี้ ผอ.แผนกภูมิคุ้มกันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรงเรียนแพทย์ Ichan ศูนย์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ได้ให้ข้อเท็จจริงอีกด้าน กับสื่อ NEW YORK DAILY NEWS ว่า ยังไม่สมควร นำงานวิจัย มาแนะนำผู้คน บอกให้พวกเขาหยุดกินไก่ทั้งหมด มีปัจจัยหลายประการสามารถ นำไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปัจจัยหนึ่งที่ดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ การอักเสบ ซึ่งอาจเกิดได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่ง คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลูปัส กลุ่มอาการของโรค Sjogren และรูปแบบอื่น เช่น การติดเชื้อ หนึ่งคือการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ความเชื่อมโยงของการกินไก่และการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาจเป็น “สาเหตุ” หรือ “ความบังเอิญ” ก็ได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีรายงานวิจัยใดที่บ่งชี้ว่าการทานเนื้อไก่ทำให้ก่อมะเร็ง รวมถึงงานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่สามารถระบุความชัดเจนในประเด็นนี้ จึงขอให้ประชาชนสบายใจว่าการรับประทานเนื้อไก่ยังมีความปลอดภัย หากประชาชนพบข่าวหรือข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งหรือขอข้อมูลที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือ ผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ได้ทันที
ที่มา : Khaosod online 10 กันยายน 2562 [https://www.khaosod.co.th/economics/news_2877411]