กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้สถานพยาบาลและหน่วยตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบทราบผลเร็ว (Rapid Antigen Test) เป็นอีกแนวทางในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจหาเชื้อในสถานการณ์ที่มีการระบาดหลายพื้นที่ แก้ปัญหาประชาชนต้องรอคิวนานจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการใช้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่างเชื้อ (swab) จากจมูกไปวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ตามวิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR)

Rapid Antigen Test คืออะไร มีการทำงานอย่างไร แล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับการตรวจแบบ PCR
.
Rapid Antigen Test คืออะไร
Rapid Antigen Test เป็นการตรวจชนิดหนึ่งของ Lateral Flow Test (LFT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยอุปกรณ์ทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่สามารถใช้ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ศูนย์ตรวจในชุมชน
.
สำหรับชุด Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาโปรตีนซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19
.
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำวิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ไว้ดังนี้
.
1. ใช้ไม้สวอบป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากโพรงจมูกหรือลำคอ
2. จุ่มไม้สวอบลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ นำไม้สวอบออก แล้วปิดด้วยจุกฝาหลอดหยอด
3. หยอดน้ำยาลงในตลับทดสอบตามจำนวนที่ชุดตรวจกำหนด
4. รอผลหลังจากหยดน้ำยาตามช่วงเวลาที่ชุดตรวจกำหนดไว้ โดยมาก 15-30 นาที (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดไว้)
5. การอ่านผลตรวจ
.
ผลบวก หรือติดเชื้อ จะมีแถบปรากฏขึ้นทั้งสองแถบคือ แทบทดสอบ (T) และแถบควบคุม (C)

ผลลบ หรือไม่ติดเชื้อ จะปรากฏเฉพาะแถบควบคุม (C)

ผลใช้งานไม่ได้ จะไม่มีแถบควบคุม (C) ปรากฏขึ้น มีแค่แถบทดสอบ (T)
.

.

มีข้อดีอย่างไร
การตรวจแบบ LFT ใช้งานง่าย และทราบผลรวดเร็ว โดยจะแสดงผลตรวจภายในเวลาประมาณ 30 นาที เหมาะสำหรับให้คนทั่วไปใช้งาน โดยมักใช้เพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รู้ตัวและเข้าสู่กระบวนการกักตัว และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
.
ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อโรคโควิดจะไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้นการตรวจวิธีนี้จึงช่วยให้สามารถบ่งชี้ตัวผู้ติดเชื้อที่อาจไม่ถูกนับรวมเข้าในจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ในการประเมินความชุกและอัตราการติดเชื้อ เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดนี้
.
ทางการสหราชอาณาจักรมีบริการจัดส่งชุดตรวจหาเชื้อ Rapid Antigen Test ฟรี ให้แก่ประชาชนทุกคนที่อายุ 11 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถขอรับชุดตรวจผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ที่จะจัดส่งชุดตรวจให้ถึงบ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับชุดตรวจต้องไม่มีอาการของโควิด-19 อยู่แล้ว นอกจากนี้ ที่ทำงาน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ก็มักจัดชุดตรวจของทางการเหล่านี้ให้แก่ลูกจ้าง หรือนักเรียน นักศึกษาด้วย
.

.

มีข้อเสียอย่างไร

การตรวจแบบ LFT ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการใช้ตรวจประชากรจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ

อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้ไม่สามารถตรวจหาเชื้อโรคโควิดที่มีปริมาณน้อยได้ ซึ่งหมายความว่า หากคุณเพิ่งจะติดเชื้อ หรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรค หรือหากคุณเพิ่งจะหายจากโรค การตรวจก็อาจไม่แสดงผลเป็นบวก

ความแม่นยำในการตรวจแบบ LFT ก็ยังขึ้นอยู่กับบุคคลที่ทำการตรวจด้วย

.

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายเรื่องนี้ว่า การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย PCR ซึ่งหากผลเป็นลบก็ต้องกลับไปดูแลกักตัวเช่นกันเพราะมีความเสี่ยงมาก แต่หากเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป
.
ขณะที่ทางการสหราชอาณาจักรแนะนำว่า หากผลการตรวจแบบ LFT เป็นบวก ให้เข้ารับการตรวจแบบ PCR ภายใน 24 ชั่วโมง และกักตัวเป็นเวลา 10 วัน
.
หากตรวจแบบ PCR ของคุณเป็นลบ แต่การตรวจไม่ได้ทำภายใน 24 ชั่วโมง คุณและผู้สัมผัสใกล้ชิดคุณจะต้องกักตัว 10 วัน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ผลตรวจแบบ LFT เป็นบวก
.

.

การตรวจแบบ LFT และ PCR ต่างกันอย่างไร
การตรวจ PCR ย่อมาจาก polymerase chain reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ถือเป็นวิธีการตรวจโควิด-19 ที่แม่นยำที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยตรวจจับกรดไรโบนิวคลีอิก (ribonucleic acid) หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งเป็นโมเลกุลลักษณะเดียวกับดีเอ็นเอ
.
การตรวจ PCR ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) เพื่อตรวจหา RNA ที่มีปริมาณน้อยมาก และมักได้ผลออกมาภายใน 24 ชั่วโมง
.
ผู้แสดงอาการโควิดจะต้องเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยวิธี PCR เพราะการตรวจแบบแสดงผลเร็ว LFT มักใช้ตรวจคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ
.
โดยการตรวจแบบ LFT จะตรวจจับโปรตีนซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19
.

ที่มา : BBC Thai https://www.bbc.com/thai/international-57805945