องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization-WMO) เผยแพร่รายงานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญ เพื่อส่งสารไปถึงการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของผู้นำจาก 60 ประเทศทั่วโลก ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ (23 กันยายน 2562) ให้ผู้นำโลกแสดงจุดยืนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
รายงานฉบับดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าปัญหาภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 จนถึงปีพ.ศ. 2562 นี้ โดยระบุว่า นานาชาติต้องเพิ่มความพยายามขึ้นเป็น 3 เท่า ในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงถึง 2 องศาเซลเซียส และต้องเพิ่มความพยายามอีก 5 เท่า ในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และยังระบุอีกว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของโลกในระยะ 5 ปีนี้ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียล
ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ผู้นำแต่ละประเทศนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมตลอด 10 ปีข้างหน้า เพื่อปูทางไปสู่ภาวะปลอดคาร์บอน ในปีพ.ศ. 2593
๐ ย้ำชัดๆ “ภาวะโลกร้อน”ไม่ใช่วงจร“ธรรมชาติ” แต่มาจาก“ฝีมือมนุษย์”
รายงานข่าวชิ้นหนึ่งจากบีบีซีไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นำเสนอเรื่องภาวะโลกร้อนจากรายงานวิจัยล่าสุด 3 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature และวารสาร Nature Geoscience ระบุว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงผันผวนของอุณหภูมิโลกในปัจจุบันสูงกว่าสถิติในประวัติศาสตร์ที่ได้เคยมีการเก็บข้อมูลกันมาอย่างมาก โดยมีความรุนแรงยิ่งกว่า "ยุคน้ำแข็งน้อย" (Little Ice Age) ที่รู้จักกันดีเสียอีก
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ทำงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ผลการศึกษานี้ได้หักล้างข้อสงสัยที่มีมานานเรื่องภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ว่าไม่มีอยู่จริง เพราะมีผู้อ้างว่าเป็นเพียงวงจรการเพิ่มและลดของอุณหภูมิตามธรรมชาติเท่านั้น
ตลอดช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ซึ่งในระหว่างนั้นมีเหตุการณ์ที่ภูมิอากาศผันผวนอย่างรุนแรงรวมอยู่ด้วยหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น "ภาวะอากาศร้อนยุคโรมัน" (Roman Warm Period) ระหว่างคริสต์ศักราช 250-400 ซึ่งทั่วยุโรปมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ไปจนถึงยุคน้ำแข็งน้อยที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 ซึ่งทำให้อุณหภูมิในหลายพื้นที่ของโลกลดต่ำลงอย่างยาวนานติดต่อกันหลายร้อยปี
หลักฐานที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิในอดีตกว่า 700 ชิ้น ซึ่งรวมถึงวงปีของต้นไม้ แนวปะการัง และดินตะกอนก้นทะเลสาบจากแหล่งต่างๆ ชี้ว่า ไม่มีปรากฏการณ์ที่อากาศร้อนขึ้นหรือหนาวเย็นลงครั้งใดจะมีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วทั้งโลกได้เท่ากับ “ภาวะโลกร้อน” ที่เริ่มเกิดขึ้นนับแต่ “ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม” ในศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้นมา
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ยุคที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 สหัสวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 98% ทั่วโลกในเวลาเดียวกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งอื่นๆ ไม่เคยส่งผลกระทบถึง 50% ของพื้นที่โลกทั้งใบในแต่ละครั้ง
ผลวิจัยสรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มีความรุนแรงสูงกว่าและแตกต่างจากเหตุการณ์ภูมิอากาศผันผวนในอดีตอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น “ยุคน้ำแข็งน้อย”มีความรุนแรงสูงสุดในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนช่วงศตวรรษที่ 15 ในขณะที่ยุโรปกลับเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งห่างกันถึง 300 ปี ส่วนเหตุการณ์ "ภาวะอากาศร้อนยุคกลาง" (Medieval Warm Period) ในช่วงคริสต์ศักราช 950-1250 ครอบคลุมพื้นที่เพียง 40% ของโลกเท่านั้น
ดร. ราฟาเอล นิวคอม หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์นของสวิตเซอร์แลนด์อธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟครั้งรุนแรง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นแบบสุ่ม ไม่ใช่วัฏจักรที่มีกำหนดแน่นอน
นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังไม่พบข้อมูลที่ชี้ว่า ความผันผวนของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ในอดีตซึ่งเป็นวงจรตามธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแต่อย่างใดด้วย
"ดังนั้น ความเห็นของบางฝ่ายที่ระบุว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเป็นเพียงวงจรตามธรรมชาติที่เราไม่ควรต้องวิตกกังวล จึงถือเป็นข้ออ้างเลื่อนลอยที่ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับอย่างเพียงพอ" ดร. นิวคอมกล่าว
ที่มา : Manager online 24 กันยายน 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000091853]