นักวิชาการเผยผลวิจัย 3 สารพิษร้าย ส่งผลแม่-ทารก เจอพาราควอตในอุจจาระทารก-ซีรัมสายสะดือ เผยปี 56 ทำคนไทยเป็นมะเร็งตาย 6.7 หมื่นราย มข.ชี้คลอร์ไพริฟอส ทำซึมเศร้า-สมาธิสั้น เห็นพ้องเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (25 ก.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้เชิญนักวิชาการจาก 3 หน่วยงานหลักมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในการใช้ 3 สารเคมี ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
โดยนางพรพิมล กองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวะอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงในหญิงตั้งครรภ์และทารกในชุมชนเกษตรกร จากการสุ่มตัวอย่างอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 102 คน มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ และคลอดด้วยวิธีธรรมชาติในโรงพยาบาล 3 แห่ง พบว่า การรับสัมผัสสารออร์กาโนฟอสเฟต ของมารดาช่วงตั้งครรภ์ 7 เดือน มีความสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อมัดเล็กและความฉลาดด้านสติปัญญาของเด็กทารก 5 เดือนลดลง และพบความสัมพันธ์ของพาราควอต และไกลฟอเซต ในซีรัมสายสะดือของทารก โดยพบว่าที่ตั้งของบ้านและสมาชิกครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกันมีผลต่อระดับไกลฟอเซต แต่ไม่มีผลต่อระดับพาราควอตในซีรัมของหญิงตั้งครรภ์ และยังตรวจพบสารออร์กาโนฟอสเฟตในอุจจาระของเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะสารพาราควอต
ด้านนายนพดล กิตนะ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม กรณีศึกษาสารฆ่าวัชพืชในจังหวัดน่าน พบว่า มีการใช้สารสูงถึง 92.04 เปอร์เซ็นต์ และพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพาราควอต ทั้งหมด 10 พื้นที่ ไกลฟอเซต 16 พื้นที่ แอทราซีน 51 พื้นที่ มีการปนเปื้อนทั้งในน้ำ นาข้าว และตะกอนดินทั้งในหนองน้ำ และแม่น้ำน่าน และการปนเปื้อนในสัตว์ทั้งในนาในหนองน้ำ และในแม่น้ำ เช่น ปู กบ หอย ปลา ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดจากการบริโภคอาหารจากสัตว์เหล่านี้
ขณะที่นายปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุถึงอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมาตรการควบคุมของประเทศ พบว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการตายของคนไทยเป็นอันดับหนึ่งมากว่าสิบปี โดยในปี 56 มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมี 67,184 ราย หรือวันละ 190 คน ชั่วโมงละ 8 คน เทียบกับเครื่องบินขนาดผู้โดยสาร 300 คนตก 215 ลำต่อปี และสารเคมีดังกล่าวยังก่อให้เกิดโรคออติสซึม ส่วนพาราควอตทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สำหรับสารไกลฟอเซตทำให้เกิดโรคต่อมไทรอยด์ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ ส่วนคลอร์ไพริฟอส ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า สมาธิสั้น
ด้าน น.ส.วรางคณา อินทโลหิต ทันตแพทย์สาธารณสุข จังหวัดหนองบัวลำภู เผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สูงถึง 1,178,130 ลิตรต่อปี เป็นการใช้ความเข้มข้นสูงกว่าที่กำหนด 4 เท่า ก่อให้เกิดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งบนดินและใต้ดินระดับสูงถึงสูงมาก และพบอัตราการป่วยโรคเนื้อเน่าสูงในช่วงที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะเดือน ก.ค.ของแต่ละปี พบการตกค้างพาราควอตระดับอันตรายในระดับน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา ดิน ผัก และพบระดับไม่ปลอดภัยในปลา
ทั้งนี้ นักวิชาการทั้งหมดเสนอตรงกันว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานทีเกี่ยวข้องควรจะส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เช่น การกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารฆ่าวัชพืช และควรมีมาตรการเชิงนโยบายโดยประกาศให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ไม่สนับสนุนการใช้สารพิษในการผลิตอาหาร เป็นต้น
ที่มา : Manager online 26 กันยายน 2562 [https://mgronline.com/politics/detail/9620000092915]