เกษตรกรในเมืองกิซูมู ของเคนยา นำเมนูอาหารหลากหลายมาจัดวาง ทั้งขนมปังอบและบิสกิตร้อนๆจากเตา ซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับขนมปังทั่วไป เพียงแต่ส่วนผสมที่เป็นหัวใจหลักของเมนูเหล่านี้ มาจากแป้งที่ทำจากจิ้งหรีด
ชาร์ลส โอดิรา เกษตรกรในเมืองนี้ผู้บุกเบิกการเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งมีจุดเด่นที่เสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ มาเป็นแหล่งอาหารทางเลือกของผู้คนในเคนยา โดยเขาได้แนวคิดการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาหารหลังจากเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศไทย
ชาร์ลส บอกว่า ตอนที่เขาเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศไทย เขาได้เรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดที่นั่น และประโยชน์ของจิ้งหรีดที่ช่วยเหลือคนยากคนจน จนขาดสารอาหาร และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดได้ เขาจึงตัดสินใจเริ่มต้นเส้นทางการเลี้ยงจิ้งหรีดในเคนยาขึ้นมา เขาเริ่มจากการเลี้ยงจิ้งหรีดที่เก็บมาจากธรรมชาติ 50 ตัว และ 2-3 ปีต่อมา เขาได้เนรมิตเล้าไก่เดิมให้กลายเป็นอาณาจักรจิ้งหรีดมากกว่า 300,000 ตัว ซึ่งพวกมันอยู่ได้ด้วยอาหารไก่และเศษพืชต่างๆ
ศูนย์ศึกษาด้านแมลงและนิเวศน์วิทยานานาชาติ หรือ ICEPE ในกรุงไนโรบี ของเคนยา ช่วยยืนยันอีกเสียงว่าจิ้งหรีดนั้นดีต่อการบริโภคของมนุษย์
ตังกา ครีแซนทัส ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง บอกว่า จิ้งหรีดมีโปรตีนสูงถึง 60-65% ซึ่งสูงกว่าโปรตีนในเนื้อสัตว์ทั่วไปที่มีอยู่ราว 25-30% ในปริมาณเท่ากัน โปรตีนจากแมลงจะยิ่งดีมากๆต่อคุณแม่ช่วงให้นมบุตรและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
นอกจากชาร์ลสจะสร้างอาณาจักรจิ้งหรีดแล้ว เขายังสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในเคนยาอีก 100 คนด้วย อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเลี้ยงจิ้งหรีดก็ไม่ได้มาง่ายๆ เพราะแอฟริกาเคยพบกับการระบาดของแบคทีเรียที่ทำให้จิ้งหรีดเกือบจะตายไปหมดทั้งภูมิภาค ทำให้เกษตรกรต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งพวกเขาได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากหน่วยงาน ICEPE ในเคนยา
ฟาร์มจิ้งหรีด ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน จากการใช้พื้นที่และทรัพยากรในการเลี้ยงจิ้งหรีดที่น้อยกว่าปศุสัตว์ทั่วไป ขณะที่ผลผลิตที่ได้ก็สามารถบริโภคได้โดยตรง หรือจะแปรรูปผลิตภัณฑ์ไปเป็นขนมปังและคุกกี้ ซึ่งถูกปากถูกใจชาวเคนยามากทีเดียว
เฟรด โอเดียมโบ ลูกค้าขนมปังจิ้งหรีด บอกว่า เขาชอบขนมปังนี้มากเพราะให้พลังงานมากกว่าขนมปังทั่วไป อีกทั้งยังเชื่อว่าขนมปังจิ้งหรีดช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้เขาอีกด้วย
สำหรับตอนนี้จิ้งหรีดอาจเป็นทางเลือกมื้อเช้าที่อิ่มท้องสำหรับชาวเคนยาบางกลุ่ม แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจิ้งหรีดอาจช่วยกู้วิกฤตขาดแคลนอาหารให้กับผู้คนในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกในอนาคตได้
ที่มา : Voice of America 29.09.19 [https://www.voathai.com/a/cricket-farming-kenya-09262019/5100316.html]