นักวิจัยม.นเรศวรปลื้มผู้ว่าฯ ตากและเลยชวนช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ขอใช้เทคนิคฟื้นฟูดินจากสารปนเปื้อนอันตราย คาดอีก 2-3 เดือนรู้ผลล้างสารกำจัดศัตรูพืชอันตรายโดยเฉพาะพาราควอตได้จริงหรือไม่

หลังจากประสบความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการฟื้นฟูดินด้วยวิธีที่พัฒนาขึ้นและทดสอบในพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จนได้ผลเป็นครั้งแรกของโลก และฝึกให้ชาวนาสามารถฟื้นฟูการปนเปื้อนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุดและรวดเร็วที่สุด จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561
ล่าสุด งานวิจัย “การใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน” ภายใต้การสนับสนุนทุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดังกล่าว มีการนำไปขยายผลต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ นับเป็นความสำเร็จที่น่าปลื้มใจของทีมวิจัย ซึ่งนำโดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงานวิจัย
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ธนพล ได้เข้าพบนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในการหารือแนวทางการผลักดันการล้างดินเพื่อกำจัดแคดเมียมออกจากนาข้าวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ใน 3 ตำบลของอำเภอแม่สอด ประมาณ 13,000 ไร่ แบบเต็มพื้นที่ ขณะนี้มีชาวบ้านตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 30 คน และเสนอให้ใช้เงินกองทุนประกันความเสี่ยงจากผู้สร้างผลกระทบ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้รับปากให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยให้ทำเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล ทำแปลงสาธิตโชว์ระดับประเทศเป็นการนำร่อง รวมถึงให้เสนอแผนการตลาดซึ่งทางเกษตรอำเภอจะร่วมสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังขอให้ ผศ.ดร.ธนพล ต่อยอดเทคนิคการล้างดินแบบแม่เหล็กเพื่อขยายผลสู่การล้างและสลายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก แม้จะเลิกใช้สารเหล่านี้แล้ว แต่ยังมีการตกค้างในดินซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าจะย่อยสลาย ยกตัวอย่าง พื้นที่การเกษตรและในแหล่งน้ำที่ลำพูนและลำปางมากกว่าร้อยละ 80 ของตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์และตกค้างในดิน มีความเข้มข้นสูงสุด 25.1 มก./กก. ด้วยค่าครึ่งชีวิตของพาราควอตยาวนานถึง 1,104 ชั่วโมง การรอให้ธรรมชาติบำบัดให้พาราควอตกลับคืนสู่ระดับตรวจไม่พบ (0.05 มก./กก.) จะต้องใช้เวลานานถึง 412 วัน ซึ่งหากไม่ล้างและสลายสารปนเปื้อนออกจากดิน เกษตรกรจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลได้
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้เชิญ ผศ.ดร.ธนพลเข้าร่วมประชุมในเวทีระดับจังหวัดกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกว่า 100 คน เพื่อหาทางฟื้นฟูดินตามคำสั่งศาลในเขตอำเภอวังสะพุง ซึ่งเป็นพื้นที่นาข้าวที่ปนเปื้อนสารหนูจากการทำเหมืองทอง โดยใช้ความสำเร็จจากพื้นที่นาข้าวที่แม่สอดที่ใช้เทคนิคการล้างดินของทีมวิจัยแทนการว่าจ้างบริษัทเอกชน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรเพราะอยากดำเนินการด้วยตัวเอง และจะนัดหารือการทำแผนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในเร็วๆ นี้
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยและการสาธิตการฟื้นฟูดินจากสารปนเปื้อนในงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือ สกว.เดิม ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนเกียรติยศ โดยแสดงความสนใจอย่างมากและซักถามถึงศักยภาพการล้างดินด้วยเทคนิคดังกล่าว ซึ่งนักวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพได้ผลจริง ชาวบ้านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ผงเหล็กประจุศูนย์ที่ใช้ในเทคนิคดังกล่าวเป็นของที่มีในประเทศในปริมาณมาก ด้วยเป็นของเหลือใช้จากกระบวนการอุตสาหกรรมทำให้การขยายผลของงานวิจัยนี้ทำได้ในทันที

ที่มา : Manager online 30 กันยายน 2562  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000094325]