แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero-waste cup จากโครงการ Chula Zero Waste จุฬาฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ นำไปทดสอบใช้ซ้ำ (Reuse) “เพาะชำกล้าไม้”

เป็นการนำแก้วชนิดนี้ที่ใช้แล้ว (ทิ้งเป็นขยะ) กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง จึงถือว่าเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเมื่อช่วยต่ออายุให้กับผลิตภัณฑ์ แถมยังลดขยะพลาสติกได้เป็นครั้งที่สอง
โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้ ทางโครงการจะนำแก้วที่ใช้แล้ว หรือแก้วที่ถูกทิ้งเป็นขยะจากโรงอาหารของจุฬาฯ กลับมาใช้ซ้ำสำหรับใช้เพาะกล้าต้นไม้ที่จะนำปลูกในป่าแทนการใช้ถุงดำพลาสติก
นอกจากเป็นวิธีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ยังช่วยกำจัดขยะแบบครบวงจร หมายความว่า คนใช้แก้ว zero-waste ย่อมช่วยลดขยะแก้วพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งที่ยากต่อกำจัด โดยเฉพาะหากหลุดลอดเป็นขยะทะเลก็เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ และเมื่อนำแก้วนี้มารียูส เพาะชำกล้าไม้ ยังลดขยะพลาสติกถุงดำที่ใช้เพาะกล้าไม้ได้เป็นต่อที่สอง
ปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการผลิตกล้าไม้คุณภาพดีและสนับสนุนการปลูกต้นไม้ แต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกปลูกต้นไม้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านต้น ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้มองหาแนวทางในการลดการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าว ดังนั้นการขอรับแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพหรือ zero-waste cup ที่ผ่านการใช้งานแล้วจากจุฬาฯ มาทดสอบการย่อยสลายในดิน สำหรับนำไปใช้เพาะชำกล้าไม้แทนถุงพลาสติก จึงเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนธรรมชาติอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย จึงจัดตั้งโครงการ Chula Zero Waste เพื่อป้องกันหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ทำให้ในปัจจุบันโรงอาหารภายในจุฬาฯ กว่า 17 แห่ง เปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero-waste cup ที่ย่อยสลายได้ทั้งหมดภายใน 4-6 เดือน โดยนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี จึงหวังว่าที่นี่จะเป็นโมเดลเพื่อให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือหน่วยงานใดก็ตามได้นำโครงการนี้ไปใช้งานต่อ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ที่ยังต้องการใช้แก้วนี้สำหรับเพาะชำกล้าไม้อีกเป็นจำนวนมาก
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ หรือ PETROMAT กล่าวถึงผลการทดลองใช้แก้ว zero-waste ของจุฬาฯ ว่า มีการทดลองใช้โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรก เป็นการใช้เพื่อทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งผู้บริโภคเครื่องดื่มส่วนใหญ่ใช้แล้วทิ้งเป็นขยะอยู่ภายในรั้วจุฬาซึ่งมีระบบการคัดแยกขยะที่ดี สะดวกต่อการจัดเก็บเพื่อนำไปบด ฝังกลบกับดินร่วมกับขยะอินทรีย์อื่นๆ ซึ่งจะกลายเป็นสารปรับปรุงดิน หรือปุ๋ยใช้ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป ตอนนี้เริ่มมาได้ 15 เดือน ใช้แก้วไปแล้วประมาณ 230,000 ใบ
ส่วนระดับที่ 2 ที่จุฬาฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ แทนที่จะเอาไปฝังกลบเป็นปุ๋ย เราก็เอาไปเพาะต้นกล้า จากเดิมที่เคยใช้ถุงพลาสติกก็จะใช้แก้วนี้แทน ก่อนหน้าความร่วมมือในครั้งนี้ จุฬาฯ ได้ทดลองใช้แก้วนี้เพาะต้นกล้าไม้ภายในจุฬาฯ มาก่อนหน้าราว 6 เดือน ซึ่งได้ผลดี คือเราสามารถปลูกต้นกล้าได้โดยไม่ต้องเอาแก้วออกให้เหลือเป็นขยะเหมือนถุงพลาสติก เพราะแก้วย่อยสลายได้ จึงง่าย และสะดวกกว่าแบบเดิม ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเนื่องจากเป็นการนำแก้วที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาดูงานที่จุฬา แล้วนำเอาโมเดลนี้ไปใช้ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ยังคงใช้ในวงจำกัด ขอบเขตเล็กกว่าที่เราทำในจุฬา เนื่องจากไม่ใช่แค่การนำแก้วไปใช้ได้เลยทันที แต่จะต้องมีระบบจัดการขยะที่ดี มีการคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ใช่ทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปซึ่งจะทำให้ยุ่งยากต่อการนำไปใช้เป็นครั้งที่สอง
ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงต่อยอดการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้ว ซึ่งย่อยสลายได้ในดิน ไปใช้ทดสอบเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร

ที่มา : Manager online 2 พฤศจิกายน 2562   [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000105393]