เมื่อเดือน ก.พ.ของปีที่แล้ว มีรายงานข่าวว่ากระแสน้ำ Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หรือกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งเป็นสายธารหลักในมหาสมุทรแอตแลนติก ได้อ่อนกำลังลงถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งพันปี และอาจหยุดไหลเวียนภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้
.
ล่าสุดมีการวิจัยถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย ระบุในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Climate Change ว่าภูมิอากาศทั่วโลกรวมทั้งพื้นที่นอกเขตอิทธิพลกระแสน้ำ AMOC ในยุโรปและอเมริกาเหนือ จะพลอยได้รับผลสะเทือนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำที่ไหลช้าลงเรื่อย ๆ จะให้กำเนิด "ภูมิอากาศโลกแบบใหม่" ที่มีสภาพคล้ายปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) มากขึ้น โดยภาวะฝนตกชุกและอากาศเย็นผิดปกติจะครอบคลุมไปถึงเขตร้อนและพื้นที่ใต้เส้นศูนย์สูตร ไกลถึงออสเตรเลียและทวีปแอนตาร์กติกาเลยทีเดียว ทำให้พื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญพายุฝนและอุทกภัยรุนแรงขึ้น ในขณะที่ทางตะวันตกของอเมริกาเหนือและยุโรปกลับต้องเผชิญภัยแล้งและไฟป่าหนักกว่าเดิม
.
มีการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของระบบภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มาทำนายสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อกระแสน้ำ AMOC หยุดไหล ซึ่งทีมผู้วิจัยพบว่าจะมีความร้อนสะสมตัวที่บริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความร้อนนี้จะดันให้อากาศที่อุ่นและชื้นขึ้นไปยังบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งสูงจากพื้นโลกราว 10 กิโลเมตร และทำให้อากาศแห้งเคลื่อนลงมายังแถบตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก
.
อากาศแห้งดังกล่าวจะหนุนให้ลมการค้า (trade winds) พัดรุนแรงขึ้น ซึ่งก็จะดันให้กระแสน้ำอุ่นเข้าถึงน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้พื้นที่เขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกเผชิญกับสภาพอากาศแบบลานีญาที่รุนแรง อย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
.
แบบจำลองกระแสน้ำ AMOC หรือกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมในมหาสมุทรแอตแลนติก
ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำเหนือทวีปแอนตาร์กติกาทางตะวันตก ก็จะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์นี้เช่นกัน โดยกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรแปซิฟิกจะทำให้มันขยายตัว และเร่งให้แผ่นน้ำแข็งรวมทั้งหิ้งน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น
.
การที่กระแสน้ำอุ่น AMOC ไหลช้าลงนั้น เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลลงสู่มหาสมุทร รบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยแรงดันเกลือ ส่งผลให้กระแสน้ำอ่อนแรงและไหลช้าลง จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของผิวน้ำและมวลอากาศข้างบนเย็นตัวได้
.
นอกจากนี้ การที่กระแสน้ำอุ่นซึ่งนำพาแร่ธาตุและสารอาหารจากเขตร้อนไปสู่ซีกโลกเหนือหยุดนิ่ง จะทำให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างใหญ่หลวงติดตามมาด้วย
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/international-61805941